หน้าเว็บ

วันเสาร์ที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2553

หลวงพระบาง

น่าน - หลวงพระบาง ความงามที่ยังมีลมหายใจ
 
ที่มา : ทีมวาไรตี้ @เดลินิวส์





ผมเพิ่งไปเที่ยว “น่าน” เพื่อ ยลโฉม ดอกชมพูภูคา เมื่อตอนปลายหนาว ต้นปีที่ผ่านมา แต่เมื่อ บริสุทธิ์ ประสพทรัพย์ หนุ่มใหญ่จาก การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย โทรฯ มาชวนไปอีกครั้ง โดยเพิ่มโปรแกรมนั่งโฟร์วีลข้ามไป “หลวงพระบาง” เพื่อปูทาง การเฉลิมฉลองสัมพันธ์ 60 ปีไทย-ลาว ในปีหน้าด้วย ผมก็ไม่ลังเลที่จะตอบตกลง



น่าน เมืองในอ้อมกอดแห่งขุนเขา พรั่งพร้อมทั้งธรรมชาติและมรดกทางวัฒนธรรม เนื่องจากเคยเป็นศูนย์กลางของอาณาจักรล้านนาตะวันออกมาก่อนและจากประวัติ ศาสตร์ เจ้าเมืองน่านมีส่วนก่อสร้างเมืองหลวงพระบางด้วย หลายฝ่ายจึงพยายามผลักดันเพื่อให้เป็นมรดกโลกควบคู่ไปกับหลวงพระบาง

ถ้าใครเกิดปีเถาะต้องไปนมัสการ วัดพระธาตุแช่แห้ง พระธาตุประจำราศีของชาว กระต่าย “พระยาการเมือง” เจ้าผู้ครองนครน่านสร้างขึ้นเพื่อประดิษฐานพระมหาชินธาตุเจ้า 7 พระองค์ พระพิมพ์เงินและพระพิมพ์ทอง รูปแบบพระธาตุคาดว่าได้รับอิทธิพลมาจากเจดีย์พระธาตุหริภุญไชย รอบองค์บุด้วยทองจังโก้ อร่ามตา


วัดภูมินทร์ วัดทรงจตุรมุขหนึ่งเดียวในประเทศไทย ประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัย 4 องค์ หันหน้าออกประตูทั้ง 4 ทิศ จิตรกรรมฝาผนังภายในวัดถือว่ามีความโดดเด่นงดงาม บรรยายเรื่องพุทธประวัติ ชาดก และวิถีชาวน่านในอดีต

และถ้าจะให้ได้บรรยากาศ ในการชมเมืองเก่า ขอแนะนำให้นั่งรถรางชมเมือง เพราะจะมีมัคคุเทศก์ท้องถิ่นถ่ายทอดข้อมูลประวัติความเป็นมาของสถานที่แต่ละ แห่ง จุดขึ้นรถ อยู่ที่ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว เทศบาลเมืองน่าน ข้างวัดภูมินทร์ สนนราคาคิดแค่หัวละ 30 บาทเท่านั้น

สำหรับสถานที่ท่องเที่ยวอื่น ๆ ของ จ.น่าน เรียกได้ว่ามีอีกมากมายจนพื้นที่ตรงนี้ไม่สามารถสาธยายได้หมด เพราะมีอุทยานแห่งชาติที่สวยงามหลายแห่ง มีทั้งถ้ำ ทั้งน้ำตก และกิจกรรมล่องแก่งให้ผู้ที่รักความท้าทายพิสูจน์ และยังมี บ่อเกลือ ที่เลื่องชื่อและมีความสำคัญ จนในอดีตเกิดสงครามแย่งชิงกันหลายต่อหลายครั้ง แต่ที่ต้องแนะนำคือ อุทยานแห่งชาติดอยภูคา ที่นี่มีดอกไม้ หนึ่งเดียวในโลก นั่นคือ ชมพูภูคา ซึ่งจะออกดอกให้ยลโฉมกันแค่ปีละครั้งประมาณ ต้นเดือน ม.ค.-มี.ค.

ชมพูภูคา เป็นไม้ยืนต้น สูงได้ถึง 25 เมตร ดอกออกตามปลายกิ่ง เป็นช่อสีชมพูยาว 30-35 เซนติเมตร เคยมีการพบกันในหุบเขาแถบมณฑล ยูนนานของจีนและทางตอนเหนือของเวียดนาม แต่ปัจจุบันไม่มีรายงานการค้นพบอีกแล้ว ดอยภูคาจึงน่าจะเป็นบ้านหลังสุดท้ายของไม้พันธุ์นี้

ทีนี้ก็ถึงเวลาเดินทางไปเมืองคู่แฝด หลวงพระบาง คาราวานโฟร์วีลของเราเริ่มต้นออกจาก ด่านถาวรบ้านห้วยโก๋น-น้ำเงิน ถ้าเป็นเช้าวันเสาร์จะคึกคักเป็นพิเศษ เพราะจะมีตลาดนัดให้ชาวไทย-ลาว เข้ามาจับจ่ายสินค้าพื้นเมืองกัน

เพียงแค่ 152 กิโลเมตร จากด่านก็จะถึงหลวงพระบาง แล้ว แต่ขอบอกว่าเส้นทางนี้ ไม่จิ๊บ ๆ อย่างที่เห็นในโฆษณา เพราะหลังจากคณะเราผ่านเมืองเงินเข้าไป 35 กิโลเมตร เมื่อถึงเมืองหงสา ซึ่งลาวจัดตั้งขึ้นเป็นเมืองเศรษฐกิจพิเศษ หลังจากนั้น การผจญภัยก็เริ่มต้นขึ้น

เส้นทางที่เหลือแค่ร้อยกิโลเศษ แต่ต้องบอกว่าหฤโหด เพราะเป็นเพียงทางลูกรังเต็มไปด้วยหลุมบ่อ ไต่ภูเขา เลาะหน้าผา ลุยลำห้วยทุลักทุเลไปแทบจะตลอดทาง คณะของเราใช้เวลาตั้งแต่เที่ยงกว่าจะไปถึงท่าเรือข้ามฟากหลวงพระบางได้ก็สอง ทุ่มเศษ ใช้เวลากับการเดินทางสุดหินร่วม 8 ชั่วโมง (ต้องเตือนไว้ก่อนว่าถ้าไม่ใช่ คอผจญภัย และคนขับไม่ชำนาญจริง ๆ ไม่แนะนำให้ใช้เส้นทางนี้ เพราะยังอันตรายอยู่มาก ๆ รอให้โครงการปรับปรุงถนนเสร็จสรรพก่อนอีก 1-2 ปี น่าจะกลายเป็นเส้นทางท่องเที่ยว ยอดฮิต)

วีรวิทย์ วิวัฒนวานิช ผวจ.น่าน บอกว่าหลังจากการประชุมคณะกรรมการพัฒนาลุ่มน้ำโขง เวียดนาม ได้มีหนังสือถึงกระทรวงมหาดไทย แสดงเจตนารมณ์ที่จะพัฒนาเส้นทางสาย เดียนเบียนฟู-เมืองเงิน-บ้านห้วยโก๋น ระยะทาง 400 กิโลเมตร ซึ่งจะทำให้ น่าน-หลวงพระบาง-เดียนเบียนฟู กลายเป็นเมืองฝาแฝดไปมาหาสู่กันได้ง่ายขึ้น


แน่นอนว่ามาถึง หลวงพระบาง สิ่งที่ต้องทำคือ ตื่นแต่เช้ามืด เพื่อให้ทัน ตักบาตร ข้าวเหนียว ประเพณีการทำบุญวิถีพุทธแบบเรียบง่ายที่เป็นเรื่องปกติของชาวเมือง แต่ถือเป็นไฮไลต์ของนักท่องเที่ยวผู้มาเยือน

สถานที่ที่ต้องไปเป็นแห่งแรกคือ พิพิธภัณฑ์พระราชวังหลวง ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานของ พระบาง สิ่งศักดิ์สิทธิ์ อันเป็นที่เคารพสักการะของชาวหลวงพระบาง พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เป็นวังเก่าของเจ้าศรีสว่างวงศ์ ภายในจัดแสดงโบราณวัตถุ และข้าวของเครื่องใช้ของเจ้าศรีสว่างวงศ์

พลาดไม่ได้เช่นกัน กับ วัดเชียงทอง วัดที่สร้างด้วยสถาปัตยกรรมแบบหลวงพระบางแท้ ๆ รูปแบบหลังคาแอ่นโค้งลาดต่ำลงมา 3 ชั้น ชาวลาวเรียกอุโบสถว่า “สิม”สิมที่วัดเชียงทอง พระเจ้าแผ่นดินเป็นผู้สร้าง จะมีช่อฟ้าอยู่กลางหลังคา 17 ชั้น แต่ถ้าหากเป็นคนทั่วไปสร้างจะมีเพียง 1-7 ชั้น นอกจากนี้ ยังมี วิหารน้อยสีชมพูอีก 2 หลัง ตกแต่งด้วยกระจกสีลวดลายวิจิตรงดงาม ด้านหลังมีวิหารอีกหลังเรียกว่า วิหารผ้าม่าน เป็นที่ประดิษฐานผ้าม่าน พระไม้ที่ลอยน้ำมาเมื่อหลายร้อยปีมาแล้ว

วัดพูสี ตั้งอยู่บนพูสีกลางเมือง ณ วัดแห่งนี้สามารถชมทิวทัศน์ทั่วเมืองหลวง พระบางได้ นอกจากวัดต่าง ๆ แล้ว ยังมีสถานที่น่าเที่ยวอีกหลายแห่ง เช่น น้ำตกตาด กวางสี ที่มีความสูงประมาณ 70 เมตร เป็นน้ำตกที่สวยงดงามและเหมาะกับการลงไปเล่นน้ำมาก นอกจากนั้นยังมี ถ้ำติ่ง ถ้ำใหญ่ริมแม่น้ำโขง ภายในมีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่ เมื่อก่อนเจ้ามหาชีวิตหลวงพระบางจะเสด็จฯ มาสักการะทุกปีในช่วงสงกรานต์

ตกเย็นก็ถึงเวลาชอปปิงที่ ถนนคนเดิน สินค้าส่วนใหญ่จะเป็น เสื้อผ้าและข้าว ของเครื่องใช้ที่ทำจากผ้า อาทิ หมอน ม่าน ผ้าปูโต๊ะ กระเป๋า ดีไซน์กิ๊บเก๋ สีสันโดนใจ ที่สำคัญ ราคาย่อมเยา แถมยังต่อรองกันได้อย่างสบาย ๆ เพราะคุยกันรู้เรื่อง

เมืองหลวงพระบาง แม้จะเป็นเมืองเล็ก ๆ ใช้เวลาเพียงวันเดียวก็เที่ยวได้ทั่ว แต่ด้วยความที่เป็นเมืองสงบ และอบอุ่นด้วยขนบวัฒนธรรม จึงทำให้หลาย ๆ คนหลงใหลอยากจะสัมผัสให้นานแสนนาน

ปีหน้า ไทย-ลาว จะเฉลิมฉลองความสัมพันธ์ครบ 60 ปีแล้ว คุณเคยไปสัมผัส เมืองเก่าที่ยังมีชีวิต ความงามที่ยังมีลมหายใจ เฉกเช่น น่าน-หลวงพระบาง บ้างหรือยัง.

สีสันรายทาง

ถ้าไปเที่ยว “เมืองน่าน” มีคนเขาพูดกันว่าถ้าไม่ได้ไปชิม บัวลอย ของ ป้านิ่ม ถือว่าไปไม่ถึง ขนาด ศุ บุญเลี้ยง ยังต้องนำมาแต่งเพลง “น่านนะสิ” เนื้อเพลงตอนหนึ่งที่ว่า...ยามค่ำคืนไม่มีแสงสียังมีบัวลอย บัวลอยไข่หวานไม่ต้องเติมน้ำตาลก็หวานจับใจ ด้วยรอยยิ้มป้านิ่มสดใสละมัยละมุน...

ส่วนใครที่อยากลิ้มชิมรสอาหารพื้นเมือง ต้องถามหา “ไค” ซึ่งเป็นพืชน้ำ มีลักษณะเป็นเส้นยาวเหมือนเส้นผม งอกอยู่ตามหินผาใต้ลำน้ำโขง จะเป็น แกงไค หรือ ไคพรุ่ย ซึ่งนำไคแห้งมาย่างให้สุก ฉีกเป็นฝอยผัดกับกระเทียมเจียว โรยด้วยเกลือป่นเล็กน้อย ก็อร่อยไม่หยอก

เช่นเดียวกับ “หลวงพระบาง” เมนู ไคทอดกรอบ โรยด้วยงา ถือเป็นอาหารประจำเมืองที่ทานเล่นได้อร่อยลิ้น ไม่น้อยหน้ากัน และแน่นอนว่าความที่หลวงพระบางเป็นเมืองเกาะ อาหารที่ขาดไม่ได้คือ สารพัดเมนูปลา ไม่ว่าจะเป็นลาบปลาแบบหลวงพระบาง ปลาฟอก (ไข่ตุ๋นใส่ปลา) หรือหมกปลาฟ่อน

อาหารที่เห็นกันโดยทั่วไปอีก 2 อย่างก็คือ เฝอ หรือก๋วยเตี๋ยว และ ข้าวจี่ หรือขนมปังบาแก๊ตแบบฝรั่งเศส ใส่หมูยอกับมายองเนส หากินได้ง่ายทั่วเมือง.
---------------------------------------------------------
หลวงพระบาง หลากรส
โดย : ปานใจ ปิ่นจินดา
LifeStyle@กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 9 เมษายน 2554

จวนเจียนเต็มทีแล้ว แต่งานในมือรอให้สะสางก็ยังคงกองอยู่เต็ม ผู้หวังดีเลยเยี่ยมหน้าเข้ามาทักถามแกมไล่ให้ไปแพ็คกระเป๋า

..แหม กะอีแค่ไปหลวงพระบาง จะอะไรกันนักหนา ว่าแล้วก็สะบัดบ๊อบใส่หนึ่งที และตอบอย่างมั่นใจว่า แค่ยัดเสื้อผ้าลงเป้อย่างชิลๆ ก็ออกจากบ้านได้แล้ว!!

ทันทีที่เท้าเหยียบลงสนามบินเชียงราย เสียงหัวเราะเยาะของคนโดนเหวี่ยงก็มาเยือน เพราะเกิดไปเจอแจ๊คพอต ลมหนาวพัดกระหน่ำ จนคิดถึงเสื้อกันหนาวตัวอุ่นที่ตั้งใจลืมทิ้งไว้ ด้วยมั่นใจว่า "เกินความจำเป็น" ขึ้นมาจับใจ


ก็ใครจะไปคิดว่า ทริปนี้มีเซอร์ไพรส์ ทั้งปรอยฝนปนลมหนาวมารอต้อนรับ แม้กระทั่งกลางวันแสกๆ ในช่วงต้นทางของสายลมร้อนอย่างเดือนมีนาคมก็ยังทำเอาสั่น ขณะที่เสื้อสีสดตัวบาง แว่นดำ หมวกกันแดด และบรรดาพร็อพแฟชันหน้าร้อนที่ตั้งใจจัดมาเต็มนั้นดูไร้ค่าไปเลย เพราะด้วยต่อให้สวมทับกันสามชั้น ไอเย็นยังแทรกเข้ามา


เที่ยวเมืองลาวทั้งที ใครๆ ก็บอกว่า ทำใจให้สบาย ปล่อยทุกอย่างให้เป็นไปตามครรลอง แต่คงจะช้าเกินไปสำหรับเรา เพราะใจมัวแต่หมกมุ่นกับการนับถอยหลัง "ทุกนาที" ที่อยู่บนเรือ ซึ่งแม้ม่านพลาสติกจะถูกดึงลงมากันลม แต่ก็ไม่สามารถกั้นความหนาวที่แทรกเข้ามาอยู่ตลอดได้


ใครจะว่าเวอร์ก็เชิญตามสบาย แต่ถ้าลองได้ล่องน้ำโขงปะทะความเย็นที่พรั่งพรูจนแยกไม่ออกว่า อันไหนลมฝน อันไหนลมหนาว อย่างไม่ทันได้เตรียมตัวเตรียมใจนั้น แล้วจะรู้ว่ามันสาหัสขนาดไหน


แต่พอหันไปเห็นว่า ขนาดป้าแหม่มที่อิมพอร์ตไกลจากดินแดนพระอาทิตย์เที่ยงคืนยังทำหน้าเหยเก กำลังใจเลยมาเป็นกอง เพราะอย่างน้อยก็ได้รู้ว่า ไม่ใช่แค่หัวดำเท่านั้นที่หนาวเป็น..


ดื่มด่ำ ลำโขง


การเดินทางสู่หลวงพระบาง เมืองมรดกโลก ครั้งนี้ มี "เรือ" เป็นพาหนะหลัก โดยมีจุดตั้งต้นอยู่ที่ อ.เชียงของ จ.เชียงราย


คณะเราบินมาถึงเชียงรายในช่วงบ่ายของวัน ก่อนจะเดินทางต่อสู่ อ.เชียงของ เพื่อพักค้างคืนและเตรียมตัวข้ามแดนในเช้าวันรุ่งขึ้น เนื่องจากไฟลท์บินไม่ว่าโดยสายการบินไหน ก็ไม่สามารถทำเวลาได้ทันตารางเดินเรือล่องโขงที่ออกล่องโขงกันตั้งแต่ 8 - 9 โมงเช้า


แต่หากใครเวลาน้อย และต้องการเริ่มวันแรกของทริปด้วยการล่องเรือเลย ก็จะต้องนั่งรถทัวร์ที่วิ่งตรงจาก กรุงเทพฯ - เชียงของ ซึ่งจะถึงปลายทางราว 7 โมงเช้า และนั่งรถต่อมายังท่าเรือบั๊ค อันเป็นท่าเรือชายแดนเพื่อข้ามลำโขงสู่ฝั่งลาว ขึ้นฝั่งที่ท่าเรือห้วยทราย บ้านห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว และจัดการรีบทำเรื่องผ่านแดนอย่างไว ห้ามเถลไถล ไม่งั้นมีตกเรือแน่นอน


สำหรับใครที่อ่านมาถึงตรงนี้แล้วบ่นว่า ทำไมต้องรีบนักรีบหนา ไหนบอกว่าไปเที่ยวลาวต้องชิลๆ นั้น ขอการันตีไว้ตรงนี้ก่อนเลยว่า สำหรับใครที่ตัดสินใจเลือกเดินทางสู่หลวงพระบางด้วยเส้นทางสายลำน้ำโขงนั้น ไม่มีคำว่าเหนื่อยอย่างแน่นอน


เนื่องจากเส้นทางล่องเรือจากห้วยทราย สู่หลวงพระบาง ถ้าเดินทางโดยเรือช้า โดยนักท่องเที่ยวจะต้องแวะพักค้างคืนที่เมืองปากเบง ก่อนจะออกเดินทางต่อในวันรุ่งขึ้น เท่ากับต้องใช้เวลาเดินทางนานสองวัน ตกวันละ 7-8 ชั่วโมง ซึ่งต้องเรียกว่า เหลือเฟือสำหรับให้พักเหนื่อย จนถึงขนาดที่ว่า เหนื่อยที่จะพักกันเลยทีเดียว


กว่า 15 ชั่วโมงในการร่วมเรียงเคียงไปกับลำน้ำโขง ที่แม้จะผลาญเวลาด้วยการหลับไปหลายตื่น แต่ธรรมชาติที่ยังบริสุทธิ์ของ สปป.ลาว ก็ดึงดูดสายตาฉันให้ตื่นตาจนลืมความหนาวได้อยู่บ่อยๆ


เพราะนอกจากจะเพลินไปกับชีวิตสองฝั่งโขงของพี่น้องชาวลาว ที่ไม่ได้มีแต่ชาวประมงออกเรือมาหาปลาเท่านั้น ชาวบ้านริมน้ำบางกลุ่มก็ออกมาเสี่ยงโชคด้วยการร่อนทอง โดยถ้าสังเกตดีๆ จะเห็นอุปกรณ์หน้าตาคล้ายกระทะ ที่ชาวบ้านนำมาตักทรายปนน้ำแล้วร่อนไปมาให้ทรายและน้ำหลุดออกไปจนเหลือแต่ สิ่งที่หนักกว่า ซึ่งถ้าโชคดี ก็จะมีเกร็ดเล็กจิ๋วของทองปนอยู่


หรือไม่ก็ได้เห็นชาวบ้านบางกลุ่มก็จะออกมาหาสาหร่ายน้ำจืดหรือที่ ภาษาลาวเว้าว่า "ไค" กันอย่างคึกคัก และถ้าใครตาดี อาจได้เห็นสัตว์ป่าอย่างช้างมาเดินโชว์ตัวอยู่ริมน้ำอีกด้วย


ความที่ต้องเดินทางเป็นระยะทางไกล เรือนำเที่ยวที่ค่อนข้างจะราคาสูงหน่อย ซึ่งสัมปทานลำน้ำโขงกันอยู่ไม่กี่เจ้า อย่างเช่น เรือหลวงทราย ที่พาคณะเราล่องลำน้ำโขงมานั้น ก็ได้จัดโปรแกรมสำหรับให้นักท่องเที่ยวได้ยืดเส้นยืดสายเดินเที่ยวเล่นที่ หมู่บ้านระหว่างทางแห่งหรือสองแห่งในหนึ่งวัน ซึ่งไม่ว่าจะแวะที่ไหน สิ่งที่ไม่ต่างกันคือลูกเด็กเล็กแดง ที่จะวิ่งกรูกันเข้ามาขายของที่ระลึก ส่วนมากก็จะเป็นสินค้าที่ทำจากด้ายถัก ทั้งสร้อยข้อมือ และกระเป๋าใบจิ๋วสำหรับคล้องคอ


ทริคอย่างหนึ่งสำหรับใครที่ไม่อยากซื้อแต่ใจไม่แข็งพอ คือ อย่าสบตา เพราะเมื่อใดที่เกิดหันไปสบตา และถูกเปิดการขายโดยเด็กคนหนึ่ง เจ้าตัวเล็กคนอื่นๆ ก็จะเบนเข็มพุ่งตรงมาหาเราทันที ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้น ก็ถึงเวลาพิสูจน์ความอดทนกันหน่อยแล้ว ว่าใครจะทนกว่าใคร

สูดกลิ่นราตรี


"เวลาที่หลวงพระบางเร็ว กว่าที่อื่นสองชั่วโมง ทุกคนอย่าลืมปรับนาฬิกากันนะคะ" เสียงคุณโรส ผู้บริหารโรงแรมหลวงทรายเรสซิเด้นซ์ ที่กล่าวต้อนรับ จนทำเอาคณะเราเหวอไปชั่วระยะนึง เพราะระยะห่างแค่ลำโขงกั้น ถึงขนาดต้องหมุนนาฬิกาย้อนกลับไป 2 ชั่วโมงได้ยังไง?


ว่าแล้วสาวเจ้าถิ่น ก็เฉลยมุกว่า ที่เมืองไทย อาทิตย์จะลับขอบฟ้าไปแล้วหรือยังนั้น ไม่ได้สำคัญอะไรเลยด้วยซ้ำสำหรับคนเมืองที่กว่าจะกลับบ้านก็ค่ำมืดดึกดื่น อย่างบ้านเรา แต่ที่เมืองลาว กิจกรรมทุกอย่างแทบจะหยุดเวลาไว้ตรงเข็มนาฬิกาชี้ไปที่เลขสิบ


คุณโรส บอกว่า หลังสี่ทุ่มไปแล้ว ในหลวงพระบางจะ เงียบเหมือนเที่ยงคืนของประเทศไทย เหลือที่เปิดอยู่ก็แค่ร้านอาหารไม่กี่ร้าน ขนาดบรรดานักเที่ยวท่องราตรีตามไนท์คลับ ก็ยังแยกย้ายกลับบ้านตั้งแต่ยังไม่เที่ยงคืนดี เพราะฉะนั้นคนไทยอย่างเรา ถ้าคิดจะสูดกลิ่นราตรีเมืองหลวงพระบาง ต้องรีบหน่อย ราวๆ 2 หรือ 3 ทุ่มจะกำลังดี


คุยกันมาถึงตอนนี้แล้ว ไหนๆ ถ้าอยากจะเก็บบรรยากาศหลวงพระบางให้ได้ครบถ้วน ชีวิตแสงสีคงต้องบรรจุอยู่ในรายการด้วย


จริงๆ แล้วในแทบจะทุกทริปการท่องเที่ยวของฉัน แผนการตระเวนท่องราตรีเป็นต้องบรรจุอยู่ในโปรแกรมด้วยตลอด.. เปล่า ไม่ใช่ว่าเพราะว่าเป็นนักเที่ยว หรือนักดื่มตัวยง แต่ฉันถือคติว่า ถ้าอยากรู้จักเจ้าถิ่นตัวจริงต้องเข้าผับ!


3 ร้านที่ฉันหมายมั่นว่าจะต้องไปให้ได้ในทริปหลวงพระบางครั้ง นี้ หนึ่งคือ "ยูโทเปีย" ที่ไม่ใช่โลกอันแสนจะเลิศเลอเพอร์เฟคท์ที่ไหน แต่เป็นร้านแนวคอนเซปท์ ที่ค่อนข้างแปลกตาสำหรับฉัน ไม่เหมือนร้านนั่งดริ้งค์ชิลๆ ทั่วไป ตรงที่ร้านนี้มีสนามวอลเล่ย์บอลอยู่ด้วย?!!?


แล้วสนามที่ว่า ก็ไม่ใช่เปิดมาเก๋ๆ เพราะชาวต่างชาตินิยมมาเล่นกันเป็นจำนวนมาก แต่นั่นก็ไม่ใช่จุดขายอย่างเดียวของยูโทเปีย เพราะที่นี่ยังมีวิวสวยๆ มองเห็นแม่น้ำคานจากมุมสูง โดยว่ากันว่าสวยและโรแมนติกทีเดียวในยามเย็นเมื่อพระอาทิตย์ลับขอบฟ้า


สำหรับฉันที่กว่าจะได้ก้าวเข้ามาในร้านก็ปาเข้าได้ 3 ทุ่มกว่าแล้วนั้น แม้จะพลาดวิวอาทิตย์อัศดงไป แต่โดยรวมแล้วถือเป็นประสบการณ์ที่แปลกใหม่ทีเดียว


..จะว่าบ้าก็ได้ แต่เมื่อตั้งใจแล้วว่า ต้องเก็บให้ครบทั้งสามร้าน ทั้งๆ ที่มีเวลาแค่สองคืน หลังจากคืนแรกนั่งชิลไปกับบรรยากาศเก๋ๆ ที่ยูโทเปียไปแล้ว ภาระหนักจึงตกอยู่กับคืนที่สอง ซึ่งมีสองไนท์คลับดาวเด่นของหลวงพระบางรออยู่


อย่างแรกเลยต้องไปที่ "ราตรีเมืองซัว" สถานบันเทิงแห่งเมืองหลวงพระบางที่อนุรักษ์การเต้นแบบ “บัดสลบ”เอาไว้ สำหรับใครที่ไม่รู้จักบัดสลบ หรือ บาสโลป ก็ขอให้ไปหาภาพยนตร์ สะบายดีหลวงพระบาง มาดูได้ ไม่ว่าจะอนันดา หรือ เรย์ ต่างก็ถูก "คำลี่" สอนเต้นบัดสลบมาแล้วทั้งนั้น


ความน่ารักของบัดสลบ อยู่ที่ท่าเต้นของหนุ่มสาวที่ออกมายืนเข้าแถวเต้นเข้าจังหวะกันอย่างพร้อม เพรียง ไม่ว่าดนตรีจะเป็นจังหวะไหน ไม่ใช่ปัญหา และพอเพลงจบลงต่างคนก็ต่างแยกย้ายกลับไปนั่งโต๊ะเหมือนเดิม


สาเหตุที่ต้องรีบมาที่นี่ก่อน เพราะจะมีการเต้นบัดสลบถึงแค่ 3 ทุ่มกว่าๆ เท่านั้น หลังจากนั้นราตรีเมืองซัว ก็จะแปรสภาพเป็นผับทั่วไป โดยต่างคนก็นั่งอยู่ที่โต๊ะของตัวเอง เวลาเจอเพลงถูกใจ ก็ค่อยออกมาโยกย้ายที่ฟลอร์หน้าเวที


หลังจากเก็บบรรยากาศราตรีเมืองซัวได้ที่แล้ว เป้าหมายต่อไปของฉัน ก็คือ "ดาวฟ้า" สถานบันเทิงชื่อดังของหลวงพระบาง ซึ่งจะว่าไปก็คล้ายๆ กับเทคบ้านเรา ซึ่งเปิดเพลงเสียงดังมากเสียจนคุยกันแทบไม่รู้เรื่อง ส่วนเพลงที่เปิดนั้นเป็นเพลงไทยเสียส่วนใหญ่ โดยดีเจงัดมาเปิดหลากหลายมาก ไม่ว่าจะเป็นบอดี้สแลม หรือ too much so much very much ของพี่เบิร์ด ยันเพลงกินตับ ของเท่ง เถิดเทิง กระทั่งไทเทเนียม ยังจัดมา


...เพลงไหนฮิต เพลงไหนดัง ดีเจแห่งดาวฟ้า ไม่ปล่อยพลาดไปอย่างแน่นอน

มรดกลาว มรดกโลก


จะว่าไปแล้ว สถานะการเป็นเมืองมรดกโลกของหลวงพระบางนั้น สำหรับฉันแทบจะไร้ข้อกังขากับตำแหน่งนี้ แม้หลายครั้งจะเคยได้ยินคำกล่าวเปรียบเปรย ทำนองว่า "หลวงพระบาง ก็เหมือนสาวพรมจรรย์ ซึ่งยิ่งนักท่องเที่ยวเดินทางมามากเท่าไหร่ ก็ยิ่งเหมือนเธอถูกรุมโทรม"



จริงอยู่ว่ามันออกจะเป็นคำเปรียบเปรยที่ค่อนข้างรุนแรงไป ว่าแค่การท่องเที่ยวจะถึงขั้นทำลายวิถีดั้งเดิมซึ่งควรแก่การอนุรักษ์ไว้เลย เชียวหรือ


สำหรับตัวฉันเอง จากประสบการณ์การมาเยือนที่แห่งนี้เมื่อ 4 ปีก่อน เมื่อเทียบกันกับ พ.ศ.นี้ ต้องยอมรับว่า หลวงพระบางแทบ จะไม่ได้เปลี่ยนไปในสายตาฉัน จะมีที่สะดุดตา สะดุดใจอยู่บ้าง ก็ตรงถนนคนเดินซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของนักช้อปที่ดูยังไงๆ ก็ไม่เข้ากันนักกับเมืองน่ารักแห่งนี้



แต่ยังดีที่ไม่ว่าจะไปสะดุดอยู่ที่บรรดาสินค้าแนวประยุกต์ หรือ เต้นท์สีสดที่ถูกขึงขึ้นตลอดแนวถนนจะขัดแย้งกับมนต์ขลังของหอพิพิธภัณฑ์แห่ง ชาติ หลวงพระบาง ซึ่งเป็นพระราชวังเดิมของเจ้าชีวิตสืบทอดมาเป็นร้อยปีก็ตามนั้น ก็ยังอาจพอมองข้ามไปและแทนที่ได้ด้วยหัวใจความเป็นลาวที่อยู่ในชาวหลวงพระบางนั่นเอง ที่ยังเปี่ยมเสน่ห์อยู่มากในความรู้สึกของฉัน


ความน่ารักของผู้คนที่ยังค่อนข้างใสซื่อ เมื่อประกอบเข้ากับวัดวาอารามที่สวยงามและเรียบง่าย ทำให้ฉันสามารถเดินเที่ยววัดวาอารามในหลวงพระบางได้อย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ยิ่งโดยเฉพาะพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ หลวงพระบางนั้น เรียกว่าเดินทั้งวันก็ไม่เบื่อ


แต่แล้วความทรงจำดีๆ ที่ฉันเตรียมพกกลับบ้าน ก็เป็นอันต้องหยุดไว้ที่สนามบินหลวงพระบาง เมื่อได้มองเห็นการก่อสร้างซึ่งพอถามไถ่ได้ความว่า นั่นคือแผนการขยายสนามบิน ที่นอกจากจะสามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้มากขึ้นแล้ว รันเวย์ใหม่ที่กำลังเป็นรูปเป็นร่าง และคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2556 ยังสามารถรองรับเครื่องบินโบอิง 737 และแอร์บัส 320 (100 ที่นั่ง) ให้เข้าจอดได้พร้อมกัน 4 ลำ


... ข้อมูลใหม่ทำเอาฉันอึ้ง และเริ่มไม่แน่ใจในอนาคตของเมืองเล็กๆ น่ารัก เมืองนี้.

ไม่มีความคิดเห็น: