หน้าเว็บ

วันพุธที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2553

'นิทานขยะ'...จากจตุจักรถึงซูโดกวอน

โดย : ลักษ์โตเย่น วุฒิศักดิ์ @กรุงเทพธุรกิจ


เมื่อ 30 ปีก่อน ขยะจากภูเขาขยะซอยอ่อนนุช เคยถูกนำไปถมที่เพื่อสร้างเป็นสวนจตุตักร ปัจจุบันเกาหลีใต่กำลังตามรอบเรา แต่อภิมหาโปรเจกต์ยิ่งกว่า


รถเก็บขยะที่แม้จะ ปฏิบัติภารกิจเก็บขยะมูลฝอย จากจุดทิ้งริมรั้วหน้าบ้านเสร็จสิ้นไปตั้งแต่ก่อนฟ้าสาง แต่ร่องรอยของการมาถึงและจากไปก็ยังโชยกรุ่นไปทั่วบริเวณโดยรอบ แม้เวลาได้ล่วงเลยไปหลายชั่วโมงแล้วก็ตาม เพื่อไม่ให้ใครน้อยหน้าใคร ทั้งคนตื่นเช้าและคนตื่นสาย ต่างมีโอกาสสัมผัสกลิ่นเหมือนกัน เพียงแต่ระดับความเข้มข้นจะต่างกันไปบ้าง


หากคุณคิดว่ากลิ่นจากรถเก็บขยะ 1 คัน เป็นสิ่งที่เกินกว่าจะทนได้แล้วละก็ ลองนึกถึงการยืนอยู่ท่ามกลางรถเก็บขยะสักประมาณ 500 คันที่บรรทุกสัมภาระเต็มเปี่ยม


นั่นคือประสบการณ์ชั้นเยี่ยมจากการร่วมคณะสำรวจบ่อฝังกลบขยะของตำบล มหาชัย อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร กับสถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม

มหาชัยที่ขึ้นชื่อในเรื่องของความสดของปลาและอาหารทะเล ดังนั้น ความโดดเด่นของบ่อฝังกลบขยะขนาดพื้นที่ประมาณ 34 ไร่คือ กลิ่นคาวปลาผสมโรงด้วยกลิ่นเกลือของทะเล

อาจจะจินตนาการยากสำหรับผู้ที่อยู่ไกลทะเล เอาเป็นว่ากลิ่นของมันหมือนกับปลาทูเน่าที่ทับถมกันเป็นร้อยถึงพันเข่ง


คณะของสถาบันฯใช้เวลาสำรวจสภาพบ่อฝังกลบขยะมหาชัยอยู่ราว 10 นาที เพื่อดูรูปแบบการบริหารจัดการ สภาพพื้นที่และหลักสุขาภิบาล สำหรับใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาเกี่ยวกับรูปแบบการจัดการขยะเชิง เศรษฐศาสตร์

10 นาทีท่ามกลางกลิ่นฝูงปลาทูเน่า นอกจากข้อมูลที่คณะสำรวจได้รับตามเป้าหมายแล้ว ยังมีกลิ่นที่ตามออกมาด้วย มันติดอยู่เส้นผม เสื้อผ้า ลมหายใจจนถึงเบาะนุ่มๆ ภายในรถ

"เอานิ้วปิดจมูกไว้ให้แน่น แล้วหายใจทางปากแทน ก็จะไม่ได้กลิ่นอะไรเลย เพราะปากไม่มีเซลล์รับกลิ่น ถ้าใช้ปากหายใจแทนจมูก เราก็จะไม่ได้กลิ่น" คำแนะนำจากเจ้าหน้าที่มือใหม่ของสถาบันฯ ที่เพิ่งเคยเหยียบบ่อขยะเป็นครั้งแรกในชีวิต จึงต้องอ้างอิงถึงหลักการทางวิทยาศาสตร์เพื่อเพิ่มความน่าเชื่อ

แต่หลังจากลงมือปฏิบัติตามคำแนะนำดังกล่าวได้สักพักใหญ่ ก็ต้องล้มเลิกเพราะรู้สึกว่ากลิ่นปลาทูบุกลึกถึงในโพรงจมูกและลามไปทุกซอกฟัน





ปฏิบัติการคืนชีพบ่อขยะ

ห่างไปจากสนามบินเมืองอินชอน ประเทศเกาหลีใต้ ประมาณ 1 ชั่วโมงของการเดินทางโดยรถยนต์ สถานการณ์คับขันอย่างบ่อฝังกลบขยะมหาชัยก็กลับมาเยือน

หลุมกลบขยะที่ปิดแล้วของซูโดกวอน

"หายใจเข้าลึกๆ ให้เต็มปอดได้เลย ไม่ต้องกลัวนะ กล้าๆ หน่อย" เสียงปลุกเร้าให้คณะลูกทัวร์เกิดความกล้าที่จะหายใจ พร้อมออกท่าทางสาธิตการหายใจลงปอด จนทรวงอกขยายใหญ่ นั่นเพราะลูกทัวร์กำลังยืนอยู่บนหลุมฝังกลบขยะ แต่เป็นหลุมฝังกลบที่ปิดดำเนินการแล้วและอยู่ระหว่างปรับปรุงพื้นที่ให้กลับ มาใช้ประโยชน์ได้อีกครั้งในรูปแบบอื่น


ซูโดกวอน (Sudokwon) ตั้งอยู่ในเขตเมืองอินชอน เป็นหลุมฝังกลบขยะมูลฝอยที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของเกาหลีใต้ ขนาดพื้นที่เกือบ 20 ล้านตารางเมตร หรือใหญ่เทียบเท่าสนามฟุตบอลรวมกัน 2,800 สนาม รองรับขยะวันละ 18,000 ตันจาก 4 เมืองโดยรอบอินชอน ซึ่งรวมถึงเมืองหลวงอย่างกรุงโซลด้วย

เริ่มรับขยะล็อตแรกราวปี 2535 มีทั้งขยะใหม่และขยะเก่าที่ถ่ายโอนมาจากหลุมฝังกลบขยะของ 3 เมืองข้างเคียง กระทั่งปี 2543 ได้ปิดการใช้ประโยชน์พื้นที่ส่วนแรก ซึ่งรองรับขยะไว้ถึง 64 ล้านตัน


ซูโดกวอน เป็นอีกหนึ่งความก้าวหน้าของเกาหลีใต้ในเรื่องการบริหารจัดการขยะ โดยมีระบบการจัดการมลพิษที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น ระบบป้องกันน้ำขยะปนเปื้อนสภาพแวดล้อม ระบบบำบัดน้ำชะขยะ ระบบจัดการกากน้ำเสียตลอดจนเทคโนโลยีผลิตไฟฟ้าจากก๊าซเน่าหรือก๊าซมีเทน

การันตีได้ด้วยสิทธิบัตรทางเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมภายในบ่อขยะแห่งนี้มากถึง 23 สิทธิบัตร

"เรามุ่งสร้างสภาพแวดล้อมที่น่าอยู่มากขึ้นสำหรับชาวท้องถิ่น" ชอ ชุน กู ซีอีโอ ซูโดกวอน แลนด์ฟิล ไซท์ (เอสแอลซี) ฉายภาพความเป็นมาและภารกิจของบ่อขยะยักษ์

ซูโดกวอน แลนด์ฟิล ไซท์ (เอสแอลซี) หน่วยงานบริหารจัดการซูโดกวอน มีสถานะเป็นองค์การมหาชน หนุนหลังโดยกระทรวงสิ่งแวดล้อมและรัฐบาลแห่งชาติ ซึ่งจัดสรรพื้นที่ 2,800 สนามฟุตบอลออกเป็น 4 ส่วน รองรับการฝังกลบขยะในอนาคตระยะยาวได้อีก 20 ปี หรือตามแผนการเดิมแล้วกำหนดปิดพื้นที่ในปี 2571 แต่ตามรูปการณ์แล้วน่าจะขยายระยะเวลาได้อีกเท่าตัวเป็นอย่างต่ำ







Dream park จากกองขยะ

อีก 4 ปีหรือปี 2557 เกาหลีใต้จะเป็นเจ้าภาพมหกรรมกีฬาของชาวเอเชีย "เอเชี่ยน เกมส์" (Asian Games 2014) กว่า 40 ชาติในทวีปเอเชียที่เป็นสมาชิก เข้าร่วมชิงชัยความเป็นหนึ่งด้านกีฬา และหลุมฝังกลบขยะซูโดกวอนจะถูกเปลี่ยนเป็นสถานที่มีเกียรติสำหรับมหกรรมกีฬาแห่งทวีปนี้


หลุมฝังกลบขยะส่วนแรกที่ปิดรับขยะไปแล้วนั้น พื้นที่ส่วนหนึ่งกำลังจะเปลี่ยนเป็น "Dream park" ประกอบด้วย สวนสาธารณะหรือพื้นที่อเนกประสงค์ สวนพฤกษศาสตร์ สวนไม้ดอกไม้ประดับ สวนผีเสื้อและสนามกีฬา

"ด้วยเทคโนโลยีการจัดการของแถมไม่พึงประสงค์ จากขยะทั้งน้ำและกลิ่น จึงไม่ใช่เรื่องยากเลยสำหรับเนรมิตบ่อขยะที่ทับถมด้วยชั้นขยะ 8 ชั้นให้เป็นดินแดนแห่งฝัน" เจ้าหน้าที่เอสแอลซียืดอกยืนยันความเป็นไปได้

เอสแอลซีอยู่ระหว่างจัดเตรียมกล้าไม้ 10 ล้านต้นสำหรับ Dream park และการลงมือปลูกก็ไม่ใช่ปัญหา ไม่ต้องใช้เทคโนโลยี อาศัยเพียง “สามัคคีคือพลัง” ผ่านทางกิจกรรมต่างๆ ที่จูงใจคนเกาหลีทั้งเด็กและผู้ใหญ่ให้ร่วมลงแขกปลูกต้นไม้เหล่านี้

อ่างเก็บน้ำจากขยะในอนาคต

Dream park ยังประกอบด้วย ลานสเก็ต สนามกอล์ฟขนาด 36 หลุม อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่รองรับกิจกรรมทางน้ำอย่างกีฬาเรือใบ ซึ่งเป็นหนึ่งรายการแข่งขันในเอเชี่ยนเกมส์ ตลอดจนกีฬาขี่ม้า พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ สำหรับนักกีฬา

น้ำในอ่างไม่ใช่น้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติ แต่เป็นน้ำชะขยะรวมถึงน้ำเสียต่างๆ ที่เกิดจากบ่อขยะยักษ์แห่งนี้ ผ่านเทคโนโลยีการบำบัดประสิทธิภาพสูง ผสานกับระบบชลประทานน้ำฝน จนความสะอาดของน้ำอยู่ในเกณฑ์ปลอดภัย และไร้กลิ่นขยะที่จะเตือนให้จดจำถึงต้นกำเนิดของน้ำ

ความอัศจรรย์ของซูโดกวอนไม่ได้มีเพียงเรื่องของสิ่งแวดล้อมสีเขียว แต่ยังครอบคลุมถึงเรื่องของพลังงานในชื่อของ Energy Town


บ่อขยะซูโดกวอนยัง ให้ผลผลิตเป็นก๊าซไข่เน่าหรือก๊าซมีเทน สำหรับผลิตกระแสไฟฟ้าได้มากถึงปีละ 50 เมกะวัตต์ เพียงพอสำหรับบ้าน 180,000 หลัง ช่วยประเทศชาติประหยัดการนำเข้าน้ำมันดิบ 50,000 บาร์เรล คิดเป็นเม็ดเงินก็ราว 20 ล้านเหรียญสหรัฐ

โรงไฟฟ้าก๊าซมีเทนก่อให้เกิดรายได้ 2 ทางคือ การขายไฟฟ้าให้หน่วยงานด้านการไฟฟ้า และการขายคาร์บอนเครดิตให้ธนาคารโลก

ล่าสุดร่วมทุนกับบริษัทสัญชาติอเมริกันเพื่อผลิตเชื้อเพลิงเหลวจากก๊าซไข่เน่า

"นั่นเป็นมูลค่าทางเศรษฐศาสตร์ที่จับต้องได้ แต่ในเชิงสิ่งแวดล้อมแล้ว ก๊าซมีเทนจำนวนมากถูกเผาทำลาย จึงไม่มีโอกาสไปทำร้ายชั้นบรรยากาศ จึงถือเป็นการช่วยลดภาวะโลกร้อนได้ด้วย" ซีอีโอแห่งซูโดกวอนบอกถึงที่มาของรายได้

ทั้งนี้ทั้งนั้น ความสำเร็จของซูดอกวอนขึ้นอยู่กับจิตสำนึกของประชาชนที่มีต่อสังคม

"เด็กเกาหลีได้รับการปลูกฝังให้รู้จักการคัดแยกขยะ ทั้งที่โรงเรียนและที่บ้าน ขยะที่ผ่านการคัดแยกจะกลับมาเป็นเงินค่าขนมและค่าของเล่นโดยไม่ต้องขอเพิ่ม จากคุณพ่อคุณแม่" ไกด์สาวสายเลือดไทยแต่ตั้งรกรากในถิ่นกิมจิ เล่าถึงวิถีชีวิตของคนกับขยะ


การคัดแยกขยะถือเป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่งของคนเกาหลี ซึ่งคัดแยกทุกอย่าง แม้แต่กระดาษชำระใช้แล้วก็ไม่ละเว้น อีกทั้งทุกจุดที่มีถังขยะตั้งอยู่ ไม่ได้มีเพียงถังเดียวเบ็ดเสร็จอย่างบ้านเรา แต่ต้องมีอย่างน้อย 4-5 ถังตามประเภทขยะ

"ถ้าคุณไม่คัดแยกขยะก่อนทิ้ง จะถูกปรับเป็นเงินค่อนข้างมาก และค่าปรับจะขยับสู่หลักล้านวอน หากคุณเทขยะไว้เฉยๆ โดยไม่จัดเก็บไว้ในถุงพลาสติกให้เรียบร้อย" ไกด์สาวเพิ่มเติม

แต่ที่ประเทศไทย ต้องซาเล้งเท่านั้นถึงจะทำหน้าที่คัดแยกขยะ อย่างขวดแก้ว ขวดพลาสติก กระดาษและเหล็ก เพื่อนำมาจำหน่ายให้ร้านรับซื้อของเก่า ส่วนขยะสดอย่างเศษผักเศษอาหาร ที่เหลือจากการคัดแยก ไม่เป็นที่ต้องการของซาเล้ง ก็เป็นส่วนที่เข้าสู่บ่อขยะไป






ย้อนดูเมืองไทย

ขณะที่ซูโดกวอนสร้าง รายได้เป็นกอบเป็นกำจากบ่อขยะ ประเทศไทยยังคงต่อสู้กับภาวะขยะล้นเมือง ชุมชนในพื้นที่ไม่เอาบ่อขยะ บ่อขยะส่งกลิ่นเหม็นเพราะการฝังกลบไม่ถูกหลักสุขาภิบาล จึงไม่แปลกที่จะถูกต่อต้านทั้งๆ ที่บ่อขยะถือเป็นขุมทรัพย์มหาศาล


บ่อขยะซูโดกวอนเกิด จากการถมทะเล จึงไม่มีปัญหาข้อพิพาทเรื่องพื้นที่กับชุมชน อีกทั้งเป็นโครงการลงทุนระดับอภิมหาโปรเจกต์ ที่วางแผนกันอย่างดี ได้รับการสนับสนุนอย่างจริงจังจากรัฐบาลแห่งชาติ และการเอาจริงของกระทรวงสิ่งแวดล้อม ทุกอย่างจึงลื่นไหล

"บ้านเรามีเทคโนโลยีจัดการขยะพร้อมอยู่แล้ว ขอเพียงงบสนับสนุนต่อเนื่อง มีคนที่มีความรู้ความเข้าใจเข้ามาบริหารจัดการและการประชาสัมพันธ์ให้ชุมชน ยอมรับ ซึ่งไม่น่าจะยากเพราะมีตัวอย่างให้เห็นอยู่แล้ว" วีระ อัครพุทธิพร รองประธานกรรมการบริหารสถาบันฯ ย้อนดูความเป็นไปได้ของไทย

"บ่อฝังกลบขยะในไทยส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ขนาดกลางและเล็ก ที่บริหารจัดการโดยชุมชน จึงไม่คุ้มทุนหากจะเดินตามรอยซูโดกวอนอย่างเต็มรูปแบบ"

อย่างไรก็ตาม ขุมทรัพย์จากบ่อขยะเริ่มส่อเค้าเป็นจริง และหลายแห่งได้ดำเนินการไปเรียบร้อยแล้ว ด้วยการแปรรูปขยะเป็นน้ำมันเชื้อเพลิง อย่างเทศบาลระยองและเทศบาลหัวหิน นำเข้าเทคโนโลยีจากโปแลนด์ผลิตน้ำมันดิบจากขยะพลาสติก น้ำมันดิบล็อตแรกส่งขายให้โรงกลั่นบางจากไปเรียบร้อยแล้ว

อีกแห่งคือเทศบาลสมุทรปราการ ร่วมกับภาคเอกชนพัฒนาเทคโนโลยีสัญชาติไทย แปรรูปน้ำมันจากขยะขึ้นมาใช้เอง คุณภาพของน้ำมันที่ได้แม้จะยังไม่ถึงขั้นใช้กับรถยนต์ แต่สามารถใช้กับเครื่องยนต์การเกษตรโดยตรงอย่าง เครื่องสูบน้ำ รถไถแบบเดินตามและเครื่องตัดหญ้า

ส่วนที่บ่อขยะราชาเทวะ ใกล้สนามบินสุวรรณภูมิ จังหวัดสมุทรปราการ ผลิตกระแสไฟฟ้าจากก๊าซมีเทน กำลังการผลิต 1 เมกะวัตต์ และเป็นผู้ขายไฟฟ้าจากขยะเชิงพาณิชย์รายแรกให้กับการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.)



....................................

สารพัดข่าวสารจากความจริงที่ปรากฏ...

- หลวงพระบาง กำลังประสบกับปัญหาขยะล้นเมือง อย่างเช่นที่เกิดขึ้นกับแหล่งท่องเที่ยวสำคัญหลายแห่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

- ชาวบ้านโวยกองขยะมหึมาบน "เขาเพชร" ล้นเมืองสัตหีบ สร้างมลพิษ ทำเดือดร้อนถ้วนหน้า ทั้งส่งกลิ่นเหม็นรบกวน ทำน้ำบาดาลเน่าเสียใช้ดื่มกินไม่ได้

- ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในโครงการเอื้ออาทร พิมายเมืองใหม่ อ.พิมาย จ.นครราชสีมา กว่า 800 หลังคาเรือนต่างเดือดร้อนจากขยะกองใหญ่ในหมู่บ้านที่ส่งกลิ่นเหม็นคละคลุ้ง ไปทั่ว จนทำให้บางคนมีอาการเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ ปวดศีรษะ และคลื่นไส้อาเจียน ชาวบ้านบอกว่า เหตุการณ์เป็นอย่างนี้มานานนับปี โดยผู้เกี่ยวข้องไม่เคยเข้าไปดูแลหรือแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น

- เทศบาลเมืองมหาสารคาม พยายามรณรงค์ให้ประชาชนช่วยกันคัดแยกขยะ รวมทั้งทิ้งขยะให้เป็นที่ และยินดีให้การสนับสนุนทั้งกำลังคนและจัดงบประมาณสนับสนุนตามความเหมาะสม หากสามารถทำให้เมืองสะอาดขึ้น มีมลพิษน้อยลง โดยเฉพาะการกำจัดขยะ

"อย่าฝากความหวังไว้กับอนาคต" คำแนะนำสั้นๆ จากซูโดกวอนส่งตรงถึงเมืองไทย

ไม่มีความคิดเห็น: