หน้าเว็บ

วันพุธที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2553

เทศกาล“วันจงชิว” เพียงหวังคนใกล้-ไกล ได้ชมจันทร์กระจ่างร่วมกัน

บรรยากาศการอยู่ร่วมฉลองเทศกาลไหว้พระจันทร์ของชาวจีนในอดีต ซึ่งให้ความสำคัญกับวันจงชิวอย่างยิ่ง (ภาพเอเยนซี)

สำหรับชาวจีนนั้น ดวงจันทร์เปรียบได้กับความงดงามสว่างไสว และนุ่มนวลอ่อนโยน ซึ่งสะท้อนความฝันอันงดงามของชีวิต และในวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 8 ตามปฏิทินจันทรคติจีน จะถือเป็น “วันจงชิว” หรือ “วันไหว้พระจันทร์” เพื่อระลึกถึงเทพธิดาแห่งพระจันทร์ และนับฤกษ์งามยามดีสำหรับการอยู่ร่วมกันของ "ครอบครัว" อันมีนัยยะกว้างไกลจากระดับคู่รัก เครือญาติวงศ์ตระกูล ชนชาติเผ่าพันธุ์ ไปจนถึงธรรมชาติสรรพสิ่ง โดยวันไหว้พระจันทร์ในปีนี้ จะตรงกับวันพุธที่ 22 กันยายน


การมาอยู่ร่วมชื่นชมจันทร์ในคืนเช่นนี้ โต๊ะอาหารกลมในบ้านเรือนต่างถูกนำออกมาตั้งไว้ รอจนถึงเวลาจันทร์เพ็ญลอยกระจ่างฟ้า จึงจัดวางอาหารหลากหลายเพื่อให้บนโต๊ะนั้นมีแต่ความอุดมสมบูรณ์ กลมเกลียว พร้อมทั้งโชคลาภบริบูรณ์ ดุจเช่นคำกล่าวของนักปราชญ์จีนว่า "ดวงจันทร์กลมสว่างเต็มดวงคราใด เสมือนดังความกลมเกลียวสมบูรณ์ของครอบครัวปรากฎ"


ตามประเพณีดั้งเดิมของวัฒนธรรมจีน ดวงจันทร์เป็นดั่งโคมสะท้อนอารมณ์ความรู้สึกของมนุษย์ โดยมีตำนานเรื่องเล่า และปรัชญามากมายที่อธิบายว่าทำไมชาวจีนจึงชื่นชมศรัทธาในดวงจันทร์ อาทิเช่น จันทราเทวีฉางเอ๋อ กับกระต่ายหยก และเฒ่าจันทรา ซึ่งชาวจีนเชื่อกันว่า คือผู้ถือบันทึกดวงชะตาแห่งบุพเพฯ และรายชื่อเด็กเกิดใหม่ทุกคนไว้ เป็นผู้หยั่งรู้อนาคตของคู่สมรส และลิขิตของท่านไม่มีอาจมีผู้ใดลบล้าง ความเชื่อตามตำนานนี้ เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่เสริมส่งให้ดวงจันทร์มีบทบาทยิ่งในชีวิตของชาวจีนเสมอ มา

ภาพวาดระบายสีที่มักเป็นความนิยมสำหรับครูนักเรียนในวันหยุดสำคัญนี้

ถ้าเป็นในสมัยโบราณที่คนยังอยู่ท่ามกลางสภาพแวดล้อมธรรมชาติ ผู้ที่อยู่ใกล้ภูเขา ก็จะปีนป่ายเดินทางขึ้นไปชมแสงจันทร์ที่ลอยเด่นอยู่กลางฟ้า หากเป็นคนริมฝั่ง ก็จะชวนกันไปนั่งชมเงาจันทร์สะท้อนผืนน้ำ อธิษฐานขอพรให้สมปรารถนา

ในคืนเช่นนี้ จะถือว่าเป็นสุขยิ่ง หากคู่รักทั้งหลายได้แบ่งปันความหวานหอมของขนมไหว้พระจันทร์ จิบชา และชื่นชมเดือนเพ็ญเต็มดวง บ้างอาจแหงนมองท้องฟ้าส่งความคิดถึงไปยังคนไกล ดั่งเช่นที่ปรากฏในบทกวีโบราณของทั้ง หลี่ไป๋ ตู้ฝู่ และ ซูซื่อ (ซูตงโพ) กวีสมัยราชวงศ์ซ่ง ซึ่งเคยได้ประพันธ์ไว้ในช่วงเทศกาลไหว้พระจันทร์กลางฤดูใบไม้ร่วงของปีค.ศ. 1076 ขณะเพิ่งจะสูญเสียภรรยาและพลัดพรากจากถิ่นอาศัย โดยกล่าวในตอนหนึ่งว่า

转朱阁 低绮户 照无眠
不应有恨 何事长向别时圆 (别时圆)
人有悲欢离合
月有阴晴圆缺
此事古难全 但愿人长久 千里共婵娟

เดือนเคลื่อนคล้อยสาดแสงแดงชาดจนผู้คนมิอาจหลับใหล
ไม่ควรคั่งแค้นไม่ว่าเรื่องใด เมื่อห่างกันไกลต่างคลี่คลาย
อันมนุษย์ล้วนมี สุข-ทุกข์ พบ-พราก
ดั่งเดือนขึ้น-แรม เต็มดวงหรือเพียงเสี้ยว เป็นเช่นนี้มาเนิ่นนาน
เพียงหวังให้คนห่างไกลมีชีวิตยืนยาว
ในพันลี้ได้ร่วมชมแสงจันทร์กระจ่างด้วยกัน

เยว่ปิ่ง หรือ ขนมไหว้พระจันทร์ (Moon Cake) ที่นิยมแจกจ่ายและรับประทานในช่วงเทศกาลไหว้พระจันทร์

แม้ว่าในปัจจุบัน ความสำคัญของดวงจันทร์ในการกำหนดฤดูเก็บเกี่ยว มีน้อยลง และผู้คนอาจจะให้ความสำคัญกับพระจันทร์ไม่มากเท่า "ขนมไหว้พระจันทร์" แต่จิตวิญญาณของความรัก ความกลมเกลียวซึ่งมีให้แก่กันในทุกระดับไม่ว่าจะเป็นความรักระหว่างตนเองกับ วิถีธรรมชาติ (แสดงความกตัญญูต่อคุณูปการของดวงจันทร์ ที่ประพรมน้ำอมฤตลงมาบนพื้นโลก กำหนดวันเวลาเพาะปลูก-เก็บเกี่ยว) ความรักของคู่รัก (ตำนานความรักอมตะ "ฉางเอ๋อ" กับ "โหวอี้") และความกลมเกลียวของครอบครัว ไปจนถึงความสามัคคีของชนเผ่าเชื้อชาติ (ดั่งเรื่องราว "จดหมายกู้ชาติในขนมไหว้พระจันทร์" ขับไล่ชาวมองโกลออกจากแผ่นดินจีน โดยมีผู้นำคือ จูหยวนจาง ปฐมกษัตริย์ราชวงศ์หมิง) ยังคงสามารถพบเห็นได้เสมอ

หากสืบย้อนดูหลักฐานทางประวัติศาสตร์จะพบว่า จีนเป็นชาติที่แสดงให้เห็นถึงแรงบันดาลใจที่ได้รับจากดวงจันทร์เสมอมา อาทิ ตำนานของ ฉางเอ๋อ และจิตรกรรม ปฏิมากรรมสลักหินนางอัปสร บนผนังในโถงถ้ำโบราณ "ตุนหวง" มณฑลกันซู่ หรือบทกวีโบราณต่างๆ ตลอดมาจนกระทั่งปัจจุบัน โครงการอวกาศสำรวจดวงจันทร์ของจีน ก็มีชื่อว่า "ฉางเอ๋อ" นอกจากนี้ ประเพณีไหว้พระจันทร์ ซึ่งเริ่มมีมาตั้งแต่ในสมัยราชวงศ์ซ่งนี้ ยังได้รับการประกาศจากทางการจีน ให้เป็นหนึ่งในมรดกทางวัฒนธรรมแห่งชาติ เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2549 ด้วยเหตุเหล่านี้ คงจะบอกได้ดีถึงความผูกพันของชาวจีนที่มีต่อ "ดวงจันทร์" ว่าลึกซึ้งเพียงใด

ที่มา : ผู้จัดการออนไลน์

ไม่มีความคิดเห็น: