หน้าเว็บ

วันจันทร์ที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2554

สรุป 10 ข่าวเด่นต่างประเทศปี 2553 [เดลินิวส์]

สถานการณ์โลกในรอบปีที่ผ่านมา มีทั้งภัยพิบัติทางธรรมชาติซึ่งมีความรุนแรงและสร้างความเสียหายมากกว่าแต่ ก่อน ตลอดจนเหตุการณ์ทางการเมือง และประเด็นต่าง ๆ ที่น่าสนใจมีดังนี้


1. ภัยธรรมชาติถล่มโลก : เมื่อวันที่ 12 มกราคม ปี 2553 หรือตรงกับเช้าวันพุธที่ 13 มกราคม ตามเวลาในไทย เกิดแผ่นดินไหวอย่างรุนแรง 7.0 ริคเตอร์ โดยศูนย์กลางของแผ่นดินไหวอยู่ห่างจากกรุงปอร์โตแปรงซ์ เมืองหลวงเฮติ ราว 15 กิโลเมตร ทำให้มีผู้เสีย ชีวิตไม่ต่ำกว่า 230,000 ศพ ประชาชนบาดเจ็บราว 300,000 คน และอีกหลายล้านคนไร้ที่อยู่อาศัย บ้านเรือน 250,000 หลัง และอาคารพาณิชย์อีกกว่า 30,000 หลัง พังทลายหรือเสียหายอย่างหนัก ซึ่งพลอยทำให้ระบบสุขอนามัยได้รับผลกระทบไปด้วย จนเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้โรคอหิวาต์ระบาดอย่างรุนแรงในเฮติ คร่าชีวิตผู้คนไปแล้ว 2,591 ศพ และมีผู้ติดเชื้ออีก 121,518 คน ในจำนวนนี้มีอยู่ราว 63,711 คน ที่ต้องรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล

ต่อมาวันที่ 27 กุมภาพันธ์ มีแผ่นดินไหวอย่างรุนแรงระดับ 8.8 ริคเตอร์ ที่เมืองคอนเซ็บซิออน ในชิลี ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 700 ศพ พร้อมกับมีคำเตือนเกี่ยวกับคลื่นยักษ์สึนามิรอบมหาสมุทรแปซิฟิก ขณะที่อินโดนีเซียเผชิญคลื่นยักษ์สึนามิ หลังเกิดแผ่นดินไหว 7.7 ริคเตอร์ เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม ทำให้มีผู้เสียชีวิตไม่ต่ำกว่า 400 ศพ ในหมู่เกาะเมนตาไว ทางตะวันตกของเกาะสุมาตรา จากคลื่นสูง 3 เมตร พัดเข้าฝั่งกวาดหมู่บ้าน 10 แห่งพังราบ ขณะเดียวกัน อินโดนีเซียยังเผชิญกับการระเบิดของภูเขาไฟเมราปีบนเกาะชวากลาง คร่าชีวิตผู้คนไม่น้อยกว่า 34 ศพ ที่ไอซ์แลนด์ภูเขาไฟไอยาฟยาพลาเยอร์คูดุลปะทุพ่นเถ้าถ่านขึ้นสู่ท้อง ฟ้าปกคลุมไปทั่วแอตแลนติกเหนือ ส่งผลให้สนามบินหลายแห่งในยุโรปต้องปิดทำการ และกระทบต่อการเดินทางทั่วโลกเป็นเวลาถึง 3 สัปดาห์

ส่วนน้ำท่วมครั้งใหญ่ในปากีสถาน ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศถึง 1 ใน 5 ทำให้มีผู้เสียชีวิตไม่ต่ำกว่า 1,760 ศพ และไร้ที่อยู่ 21 ล้านคน เช่นเดียวกับจีนเกิดแผ่นดินไหวรุนแรงระดับ 7.1 ริคเตอร์ที่มณฑลชิงไห่ ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 2,000 ศพ ขณะที่รัสเซียเผชิญคลื่นความร้อนและภัยแล้งอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ก่อให้เกิดไฟป่าคร่าชีวิตประชาชนราว 50 ศพ และพื้นที่ป่าไม้กว่า 6 ล้านไร่ ถูกเผาจนวอด หมู่บ้านหลายแห่ง กลายเป็นทะเลเพลิง


2. พม่าปล่อยออง ซาน ซูจี : 13 พฤศจิกายน เป็นวันที่นางออง ซาน ซูจี นักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในพม่า ได้รับอิสรภาพจากรัฐบาลทหาร ภายหลังถูกกักบริเวณในบ้านพักที่นครย่างกุ้งและการเลือกตั้งครั้งแรกในรอบ 20 ปี ของพม่าเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน ทั้งนี้ทางการพม่าได้ขยายเวลาบทลงโทษของการกักบริเวณนางซูจีออกไปเมื่อปีที่ แล้ว อันเนื่องจากมีชาวอเมริกันคนหนึ่งลอบว่ายน้ำข้ามทะเลสาบเข้าไปที่บ้านพักของ เธอ

นางซูจี ยังคงเป็นภัยคุกคามอย่างมากสำหรับคณะรัฐบาลทหาร นับตั้งแต่ที่กองทัพเข้ามาปกครองประเทศด้วยระบอบเผด็จการนานถึง 50 ปี โดยเธอต้องถูกลงโทษจำคุกและกักบริเวณถึง 15 ปี ในช่วง 21 ปีที่ผ่านมานี้ ขณะที่ นายคิม อาริส บุตรชายของนางซูจี กับสามีชาวอังกฤษ ได้เดินทางมาเยี่ยมมารดาเป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปี ส่วนพรรคสหภาพเอกภาพและการพัฒนา (ยูเอสดีพี) ของพม่า ที่รัฐบาลให้การสนับสนุน ชนะการเลือกตั้ง คว้ามาได้ 883 ที่นั่ง จากทั้งหมด 1,154 ที่นั่ง ในทั้ง 2 สภา


3.วิกิลีคส์แฉเอกสารลับการทูตสหรัฐ : วิกิลีคส์ เว็บไซต์จอมแฉกลายเป็นเว็บที่ได้รับการจับตามองไปทั่วโลก เนื่องจากเปิดโปงข้อมูลลับทางการทูตของสหรัฐ 250,000 ชุดไปทั่วโลก ซึ่งเกี่ยวข้องกับหลายประเทศ รวมทั้งรัสเซีย จีน ซาอุดีอาระเบีย อิหร่าน ออสเตรเลีย ยุโรป พม่า และไทย นอกจากนี้ วิกิลีคส์ยังแฉต่อว่า นางฮิลลารี คลินตัน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ เป็นผู้สั่งการให้สถานทูตอเมริกันทั่วโลกทำหน้าที่สอดแนมแล้วให้รายงานกลับ ไปยังกรุงวอชิงตัน ก่อนหน้านั้น วิกิลีคส์ เคยออกมาแฉข้อมูลลับทางทหาร ของสหรัฐในสงครามอัฟกานิสถานและอิรัก ส่วนนายจูเลียน แอสแซนจ์ ผู้ก่อตั้งและบรรณาธิการเว็บไซต์วิกิลีคส์ ชาวออสเตรเลียวัย 39 ปี ถูกตำรวจอังกฤษจับกุม ตามหมายจับสากลของทางการสวีเดน เนื่องจากนายแอสแซนจ์ถูกกล่าวหาข่มขืนและล่วงละเมิดทางเพศผู้หญิง 2 คน


4. เกาหลีเหนือวางตัวทายาทคนใหม่ : เชื่อกันโดยทั่วไปว่า ปัญหาสุขภาพด้วยโรคเส้นโลหิตในสมองเมื่อปี 2551 ทำให้นายคิม จอง-อิล ผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือวัย 68 ปี ต้องวางตัวทายาททางการเมืองคนใหม่เพื่อสืบทอดอำนาจ ซึ่งคือนายคิม จอง-อุน วัย 27 ปี บุตรชายคนสุดท้องของเขา และยังได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหนึ่งในคณะกรรมาธิการกลาง และควบตำแหน่งรองประธานคณะกรรมาธิการทหารกลางของพรรคกรรมกร รวมไปถึงการได้รับแต่งตั้งเป็นนายพล 4 ดาว นอกจากนี้ เกาหลีเหนือประกาศให้วันเกิดของนายคิม จอง-อุน คือวันที่ 8 มกราคมเป็นวันหยุดราชการของทุกปี ขณะที่เกาหลีเหนือตกเป็นผู้ต้องหาของเกาหลีใต้ จากการยิงตอร์ปิโดจมเรือรบโชนัน ทำให้มีผู้เสียชีวิต 46 ศพ และยังเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่สงครามเกาหลีปี 2493-2496 เกาหลีเหนือระดมยิงปืนใหญ่นับร้อยนัดโจมตีเกาะยอนเปียงของเกาหลีใต้ ทำให้นาวิกโยธิน 2 นายและพลเรือน 2 คนเสียชีวิต อีกทั้งมีผู้บาดเจ็บอีกราว 20 คน

5. 33 คนงานเหมืองชิลีติดใต้ดินนานกว่า 2 เดือน : เกิดอุบัติเหตุเหมืองทองคำและทองแดงซานโฮเซ่ ถล่มในทะเลทรายอาทาคามาของเมืองโกปิอาโป ทางเหนือของชิลีเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม ส่งผลให้คนงานเหมืองทั้งหมด 33 คน ติดอยู่ใต้ดินในระดับความลึกเกือบครึ่งไมล์ (ราว 800 เมตร) เป็นเวลานานถึง 69 วัน ทุกคนต้องประทังชีวิตด้วยอาหารที่มีอย่างจำกัดและใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่แคบ เป็นเวลานานถึง 17 วัน ก่อนที่หน่วยกู้ภัยรับรู้สัญญาน ของการมีชีวิตอยู่รอด จากนั้นปฏิบัติการช่วยเหลือจึงเริ่มขึ้น ซึ่งหลังจากการขุดเจาะหลุมลึกหลายร้อยเมตรประสบความสำเร็จ ในที่สุดทีมกู้ภัยได้ใช้แคปซูลค่อย ๆ ดึงคนงานเหมืองขึ้นจากใต้ดินทีละคน จนกระทั่งครบ 33 คน ท่ามกลางความยินดีปรีดาและให้กำลังใจของผู้คน จากการถ่ายทอดสดปฏิบัติการกู้ภัยครั้งประวัติศาสตร์ไปทั่วโลกของสถานี โทรทัศน์


6. แท่นขุดเจาะน้ำมันของบีพีระเบิด : เหตุระเบิดที่แท่นขุดเจาะน้ำมันของบริษัทบีพีแห่งอังกฤษคร่าชีวิตคนงาน 11 ศพ และยังทำให้น้ำมันแพร่กระจายเข้าสู่อ่าวเม็กซิโกของสหรัฐในปริมาณไม่ต่ำกว่า 170 ล้านแกลลอน ส่งผลให้บีพีต้องตั้งกองทุนมูลค่า 20,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 600,000 ล้านบาท เพื่อจ่ายค่าเสียหายที่เกิดกับสภาพแวดล้อมและอุตสาหกรรมประมง รวมทั้งการท่องเที่ยวในภูมิภาค ตลอดจนส่งผลกระทบต่ออุตสาหรรมอาหารทะเลในรัฐลุยเซียนาอย่างหนัก เพราะทำให้ชาวประมงต้องขาดรายได้รายละนับแสนบาท ขณะที่รัฐบาลประธานาธิบดีบารัค โอบามา ยื่นฟ้องต่อบริษัทบีพี และหุ้นส่วน ซึ่งหากศาลตัดสินว่า เป็นการประมาทอย่างร้ายแรง อาจสั่งปรับ 4,300 ดอลลาร์ต่อน้ำมันทุก 1 บาร์เรล ที่รั่วไหลลงสู่อ่าวเม็กซิโก หรือคิดเป็นมูลค่าอย่างต่ำ 21,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 630,000 ล้านบาท) แต่ถ้าหากศาลไม่พบว่ามีการประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ค่าปรับก็อาจอยู่ที่ 1,100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล หรือ ประมาณ 5,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 162,000 ล้านบาท)


7. หลิว เสี่ยวโป พิชิตรางวัลโนเบลสันติภาพ : คณะกรรมการพิจารณารางวัลโนเบล ประกาศมอบรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพประจำปีนี้ ให้แก่นายหลิว เสี่ยวโป วัย 54 ปี นักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในจีน สำหรับความพยายามมาอย่างยาวนาน โดยไม่ใช้ความรุนแรงเพื่อส่งเสริมประชาธิปไตย และสิทธิมนุษยชนในจีน นายหลิวถือเป็นชาวจีนคนแรกที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ แต่ไม่สามารถเดินทางไปรับรางวัลด้วยตนเองได้ เพราะทางการจีนจับกุมและตัดสินลงโทษเมื่อวันที่ 25 ธันวาคมปี 2552 ให้จำคุก 11 ปี ในข้อหายั่วยุให้เกิดการล้มล้างอำนาจรัฐ ภายหลังจากนายหลิวเป็นผู้เขียนกฎบัตร 08 เอกสารสนับสนุนการปฏิรูปการเมืองและการพัฒนาประชาธิปไตยในจีน ซึ่งเสนอให้จีนยกเลิกระบบการปกครองแบบพรรคเดียว และสร้างระบอบประชาธิปไตยแบบหลายพรรค ขณะที่รัฐบาลจีนระบุว่า นายหลิวเป็นอาชญากร ไม่สมควรได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ และการกระทำของเขาตรงกันข้ามกับจุดประสงค์ของรางวัล

8. เครื่องบินตกในรัสเซีย ผู้นำโปแลนด์เสียชีวิต : โศกนาฏกรรมครั้งใหญ่สำหรับชาวโปแลนด์ เมื่อเครื่องบินโดยสารตูโปเลฟ ทียู 154 ที่ผลิตในรัสเซีย เดินทางจากกรุงวอร์ซอ มายังเมืองสโมเลนสก์ ทางตะวันตกของรัสเซีย ประสบอุบัติเหตุบินชนต้นไม้ในเขตป่า ท่ามกลางหมอกลงจัด และทัศนวิสัยเลวร้าย ทำให้เครื่องบินดิ่งลงและเกิดไฟลุกไหม้ ก่อนแตกกระจายออกเป็นหลายส่วน คร่าชีวิตประธานาธิบดีเลค คาซินสกี้ ผู้นำโปแลนด์วัย 61 ปี และภริยานางมาเรีย คาซินสกี้ สุภาพสตรีหมายเลข 1 รวมทั้งประธานเสนาธิการทหารบก ตลอดจนนายอังเดร เครมอร์ รัฐมนตรีช่วยต่างประเทศโปแลนด์ และผู้โดยสารคนอื่น ๆ รวมทั้งสิ้น 96 ศพ ทั้งนี้ ประธานาธิบดีคาซินสกี้ พร้อมคณะเดินทางมายังรัสเซีย เพื่อร่วมงานรำลึกครบรอบ 70 ปี ที่กองทัพโซเวียตสังหารหมู่ชาวโปแลนด์ 22,000 ราย ในป่าคาทีน ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2


9. อังกฤษได้รัฐบาลผสมครั้งแรกในรอบหลายสิบปี : นายเดวิด คาเมรอน หัวหน้าพรรคอนุรักษนิยม วัย 43 ปี ชนะการเลือกตั้งทั่วไป ได้เป็นนายกรัฐมนตรีที่มีอายุน้อยที่สุดในรอบเกือบ 200 ปี แต่การเลือกตั้งไม่มีพรรคใดได้เสียงข้างมากเกินกึ่งหนึ่ง 326 ที่นั่งจากจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมด 650 ที่นั่ง ทำให้อังกฤษไม่สามารถมีรัฐบาลพรรคเดียวเป็นครั้งแรกในรอบ 65 ปี และจัดตั้งรัฐบาลผสมระหว่างพรรคอนุรักษนิยม ที่ได้คะแนนอันดับ 1 มี ส.ส. 306 เสียง กับพรรคเสรีประชาธิปไตย ที่ได้อันดับ 3 มี ส.ส. 57 เสียง ส่งผลให้รัฐบาลชุดใหม่ของอังกฤษมีเสียงรวมกัน 363 เสียง ขณะที่พรรคแรงงาน ซึ่งเป็นรัฐบาลติดต่อกัน 13 ปี ได้รับเลือกตั้งมาเป็นอันดับ 2 ได้ ส.ส. 258 เสียง


10. จีนขึ้นชั้นเป็นมหาอำนาจตัวจริงของเอเชีย : พญามังกรผงาดขึ้นเป็นมหาอำนาจหมายเลข 1 แห่งเอเชียอย่างยิ่งใหญ่ เริ่มตั้งแต่จัดงานระดับโลกอย่างเซี่ยงไฮ้ เวิลด์ เอ็กซ์โป ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม ถึงวันที่ 31 ตุลาคม รวมระยะเวลาทั้งสิ้น 6 เดือน จำนวนผู้เข้าชมงานมากเป็นประวัติการณ์กว่า 72 ล้านคน และต่อมายังเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ครั้งที่ 16 ที่นครกวางโจว ในมณฑลกวางตุ้ง นอกจากนี้ จีนยังมีบทบาทสำคัญต่อเกาหลีเหนือในฐานะลูกพี่ใหญ่ คอยให้ความช่วยเหลือด้านเศรษฐกิจและการทหารแก่โสมแดงมาตลอด รวมทั้งยังมีอิทธิพลต่อผู้นำเกาหลีเหนือ

ส่วนเศรษฐกิจจีน มีอัตราการเติบโตที่พุ่งพรวด นับตั้งแต่ทั่วโลกเผชิญวิกฤติการเงินเมื่อปี 2551 และในช่วง 10-15 ปีข้างหน้า เศรษฐกิจจะมีความโดดเด่นน่าจับตามากยิ่งขึ้น ขณะที่จีนยังสามารถแซงหน้าญี่ปุ่น ขึ้นสู่ฐานะการเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสองของโลก รองจากสหรัฐ อย่างไรก็ตาม ในการประชุมผู้นำระดับสูงของรัฐบาลจีนเมื่อไม่นานนี้ ได้ให้คำมั่นว่า จะทำให้เศรษฐกิจแข็งแกร่งต่อไปอย่างรอบคอบ และจะแก้ปัญหาราคาอสังหาริมทรัพย์ที่แพงลิ่ว ตลอดจนภาวะเงินเฟ้อที่กำลังอยู่ในช่วงขาขึ้น ที่อาจเป็นตัวการชะลอการขยายตัวทางเศรษฐกิจ.

ทีมข่าวต่างประเทศ @เดลินิวส์

ไม่มีความคิดเห็น: