หน้าเว็บ

วันพุธที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2554

อียิปต์ประท้วง

อียิปต์ประท้วงเดือดหวังโค่นรัฐบาล
โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
วันที่ 26 มกราคม 2554


อิยิปต์ประท้วงเดือด หวังโค่นรัฐบาลหลังได้แรงบันดาลใจจากตูนิเซีย

ผู้ประท้วงต่อต้านรัฐบาลอิยิปต์หลายพันคน ได้กระจายกันไปตามถนนสายต่าง ๆ ในกรุงไคโร และเมืองอเล็กซานเดรีย เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา และการประท้วงที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากตูนิเซียในครั้งนี้ มีเป้าหมายที่จะยุติการครองอำนาจอันยาวนานเกือบ 30 ปี ของประธานาธิบดีฮอสนีย์ มูบารัค และมีผู้เสียชีวิตแล้ว 3 คน


ผู้จัดการประท้วง ได้เรียกร้องให้ประธานาธิบดีมูบารัคและรัฐบาลของเขาลาออก เพื่อยุบสภาและจัดตั้งรัฐบาลสมานฉันท์แห่งชาติขึ้นมาบริหารประเทศ ซึ่งที่เมืองอเล็กซานเดรีย ที่ได้ชื่อว่าเป็นเมืองท่าที่สำคัญในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ทางตอนเหนือของประเทศ มีผู้ประท้วงหลายพันคน เดินขบวนประท้วงที่พวกเขาเรียกว่า " วันแห่งความเดือดดาล " ( Day of Rage ) เพื่อต่อต้านประธานาธิบดีมูบารัค และการขาดเสรีภาพทางการเมืองภายใต้การปกครองของเขา พร้อมกับร้องตะโกนและโบกธงชาติไปด้วย

ทั้งนี้ หลังเกิดเหตุรุนแรงที่กรุงไคโรได้เพียงหนึ่งวัน ผู้ประท้วงหลายพันคนได้ไปรวมตัวกันอยู่ที่จตุรัสทาห์รีร์ ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากอาคารรัฐบาลและอาคารรัฐสภา พวกเขายืนยันว่าจะปักหลักกันอยู่ตลอดคืน และพร้อมรับการเผชิญหน้าที่เพิ่มขึ้น

การประท้วงเมื่อวันอังคาร ซึ่งเป็นครั้งใหญ่ที่สุดอย่างที่ไม่เคยปรากฎมานานหลายปี ได้เริ่มต้นอย่างสันติ และตำรวจได้แสดงความอดกลั้น อันเป็นยุทธศาสตร์ของรัฐบาล เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดภาพลักษณ์ที่ไม่ดีเพิ่มขึ้นของหน่วยงานรักษาความมั่นคง หลังจากเผชิญเสียงวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการคอรัปชั่นและการใช้ความรุนแรง

กระแสความไม่พอใจสภาพเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และการโค่นอำนาจประธานาธิบดีตูนิเซียที่ยังส่งผลกระทบในภูมิภาค ทำให้รัฐบาลอิยิปต์ที่ปกติแล้วจะจัดการอย่างฉับต่อผู้ที่มีความเห็นไม่ลงรอยกับรัฐบาล ต้องรอดูสถานการณ์ด้วยความระมัดระวัง แต่ฝูงชนที่ไปร่วมการประท้วงที่จตุรัส ทาห์รีร์ ที่นอกจากจะโบกธงชาติอิยิปต์แล้ว ยังโบกธงชาติตูนิเซีย และใช้วิธีร้องตะโกนประท้วงด้วยข้อความเดียวกับชาวตูนิเซียก่อนหน้านี้

กระทรวงมหาดไทย ระบุว่า มีคนไปชุมนุมที่จตุรัสทาห์รีร์ ราว 1 หมื่นคน ตำรวจใช้สายดับเพลิงกระบองและแก๊สน้ำตา ในการเข้าสลายฝูงชน ที่ร้องตะโกนขับไล่ประธานาธิบดีมูบารัค และเรียกร้องให้ยุติความยากจน การคอรัปชั่น การว่างงาน และการล่วงละเมิดของตำรวจ ซึ่งภาพของตำรวจทุบตีผู้ประท้วง ได้รับรู้ไปทั่ว เนื่องจากเมื่อวันอังคารเป็นวันหยุดประจำชาติ

ชาวอิยิปต์เกือบครึ่งหนึ่งของประชากร 80 ล้านคน ต้องมีชีวิตต่ำกว่า หรือสูงกว่ามาตรฐานความยากจนที่กำหนดไว้โดยสหประชาชาติเพียงเล็กน้อย ด้วยรายได้วันละ 2 ดอลล่าร์ หรือราว 60 บาทชายอิยิปต์ขาดแคลนสิ่งจำเป็นขั้นพื้นฐาน , คุณภาพการศึกษาและสาธารณสุขต่ำ แต่อัตราการว่างงานสูง


ผู้ประท้วงอียิปต์ขว้างปาสิ่งของเข้าใส่ตำรวจ ระหว่างการประท้วงเรียกร้องให้ปธน.ลาออก



เดือด!จลาจลอียิปต์ยอดตาย 6 คนแล้ว
วันที่ 27 มกราคม 2554


ประท้วงต่อต้านรัฐบาลอียิปต์ครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 30 ปีรุนแรงมากขึ้น ทำคนตายเพิ่มอีก 2 รวมเป็น 6 คนแล้วขณะผู้ประท้วงจุดไฟเผาสำนักงาน

การประท้วงต่อต้านรัฐบาลครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 30 ปีของอียิปต์บานปลายเป็นเหตุรุนแรงมากขึ้นในวันที่ 2 เมื่อผู้ประท้วงเดินหน้าเรียกร้องมห้ประธานาธิบดีฮอสนี มูบารัก ลาออก ทำให้มีผู้เสียชีวิตอีก 2 คนเป็นตำรวจและผู้ประท้วง หลังจากมีขว้างปาก้อนหินเข้าใส่กัน และยอดผู้เสียชีวิตเพิ่มเป็น 6 ราย

ผู้ประท้วงพยายามเดินหน้าผ่านประตูกระทรวงต่างประเทศ แต่ถูกตำรวจใช้แก๊สน้ำตายิงเข้าใส่ ทำให้ล่าถอยออกไป ขณะที่ผู้ประท้วงในเมืองสุเอซขว้างระเบิดขวดเข้าใส่ที่ทำการรัฐบาล ทำให้ไฟไหม้ ส่วนอีกกลุ่มขว้างระเบิดขวดและเข้ายึดครองสำนักงานใหญ่ของพรรครัฐบาล

หลังจากผู้ประท้วงหลายพันออกชุมนุมทั่วประเทศ กระทรวงมหาดไทยได้สั่งห้ามการชุมนุม และจับประชาชนไป 700 คน

ด้านสหรัฐกล่าวว่าเป็นสิ่งสำคัญสำหรับรัฐบาลอียิปต์ที่จะแสดงการตอบรับประชาชน ขณะที่เลขายูเอ็นเรียกร้องให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องไม่ทำให้สถานการณ์เลวร้ายไปกว่าเดิม และขอให้ทางการมองว่านี่เป็นโอกาสแก้ไขความวิตกของประชาชน


อิยิปต์วางกำลังปฏิบัติการพิเศษ รับมือชุมนุมประท้วง
วันที่ 28 มกราคม 2554


อียิปต์เสริมกองกำลังชุดปฏิบัติการพิเศษในกรุงไคโร ก่อนการประท้วงครั้งล่าสุดจะเปิดฉากขึ้น

นักวิเคราะห์ชี้ว่า การเคลื่อนไหวดังกล่าว ถือเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่า รัฐบาลประธานาธิบดีฮอสนีย์ มูบารัค วัย 82 ปี กำลังจะกวาดล้างขั้นเด็ดขาด ต่อการประท้วงครั้งใหญ่ที่สุดในรอบหลายปี เพื่อต้านการครองอำนาจยาวนานเกือบ 30 ปีของเขา

กองกำลังชุดปฏิบัติการพิเศษ ที่ปกติแล้วจะไม่ค่อยเห็นตามท้องถนน ยืนประจำการอยู่ตามจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญ รวมทั้ง จตุรัสทาห์รีร์ ซึ่งเป็นสถานที่ชุมนุมประท้วงที่ใหญ่ที่สุดในสัปดาห์นี้

ขณะเว็บไซต์ครือข่ายสังคมออนไลน์อย่าง ทวิตเตอร์และเฟซบุ๊ค เครื่องมือสำคัญในการระดมคนเข้าร่วมการประท้วง ก็โดนรบกวนจนไม่สามารถเข้าไปใช้งานได้ รวมถึง การส่งข้อความทางโทรศัพท์มือถือ กับบริการของแบล็คเบอร์รี่ ก่อนที่อินเทอร์เน็ตจะล่มถาวร

การเคลื่อนไหวของชาวรากหญ้าในอียิปต์ ได้รับกำลังใจเพิ่มเป็น 2 เท่า เมื่อนายโมฮัมหมัด เอล บาราได อดีตผู้อำนวยการสำนักงานพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ หรือไอเออีเอ เดินทางกลับแผ่นดินเกิด และสนับสนุนพรรคฝ่ายค้านที่ใหญ่ที่สุด คือ มุสลิม บราเธอร์ฮูด




 ชาวอียิปต์รวมตัวกันตามท้องถนน แม้รัฐบาลประกาศเคอร์ฟิวและนำกองทัพเข้าดูแลสถานการณ์


@กรุงเทพธุรกิจ


"มูบารัก"ปลดรมว.ทั้งคณะ รับปากปฏิรูป
วันที่ 29 มกราคม 2554



ไคโร - ผู้นำอียิปต์ออกทีวี ประกาศปลดรัฐมนตรีทั้งคณะ รับปากปฏิรูปเศรษฐกิจ-การเมือง หลังประท้วงรุนแรงต่อเนื่อง มีผู้เสียชีวิตอีกกว่า 20 ราย

ประธานาธิบดีฮอสนี มูบารักแห่งอียิปต์ ประกาศปลดรัฐบาลทั้งคณะ หลังจากการประท้วงยืดเยื้อติดกัน 4 วันเพื่อเรียกร้องให้เขาลาออก และมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 27 รายแล้ว

นอกจากนั้น มูบารักยังรับปากจะปฏิรูปเศรษฐกิจ-การเมือง เพื่อให้แน่ใจว่าระบบตุลาการจะมีอิสระ และประชาชนมีเสรีภาพมากขึ้น ทั้งยังจะมีการดำเนินมาตรการใหม่ๆ เพื่อแก้ปัญหาว่างงาน เพิ่มมาตรฐานความเป็นอยู่ ปรับปรุงบริการ และการช่วยเหลือคนจน

มูบารัก ซึ่งอยู่ในอำนาจมา 30 ปี ไม่ได้พูดถึงการเปลี่ยนแปลงด้านอื่น ทั้งที่การประท้วงลุกลามในกรุงไคโรและเมืองใหญ่ๆ หลังการประกาศเคอร์ฟิวไม่ให้ประชาชนออกนอกบ้านเวลา 18.00-19.00 น. ในกรุงไคโร อเลกซานเดรีย และสุเอซ แต่ขยายเคอร์ฟิวเป็นทั่วทุกเมืองในเวลาต่อมา นอกจากนั้น มูบารักยังส่งทหารออกควบคุมสถานการณ์ แต่ผู้ประท้วงก็เรียกร้องให้ทหารเข้าร่วมการประท้วงกับประชาชน

ผู้ประท้วงได้จุดไฟเผาสำนักงานใหญ่พรรคประชาธิปไตยแห่งชาติของมูบารัก ทำให้เพลิงลุกไหม้ต่อเนื่องหลังเวลาผ่านไป 6 ชั่วโมง ส่วนในเมืองสุเอซ ผู้ประท้วงได้บุกสถานีตำรวจ ยึดอาวุธ และจุดไฟเผารถตำรวจ ทำให้เกิดการปะทะกันอย่างหนัก

นอกจากนั้น ยังมีการปล้นสะดมในหลายจุดของกรุงไคโร รวมถึงสำนักงานที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาล โดยมีผู้ขโมยอุปกรณ์สำนักงานไปและตำรวจไม่ได้เข้าห้ามปราม

ขณะที่นายโมฮาเหม็ด เอลบาราได้ แกนนำนักเคลื่อนไหว ซึ่งกล่าวว่าพร้อมเป็นผู้นำรัฐบาลเฉพาะกาล ต้องเข้าไปหลบในมัสยิดหลังจากถูกตำรวจกวาดต้อนพร้อมฝูงชย 2,000 คน

ด้านรัฐบาลสหรัฐเตือนชาวอเมริกันไม่ให้เดินทางไปอียิปต์ หากไม่มีเหตุจำเป็น ขณะนักวิเคราะห์มองว่าสหรัฐวิตกมากขึ้นว่าการที่อียิปต์ไม่ยอมปฏิรูปการเมืองอาจทำให้เกิดความรุนแรงมากขึ้น ทั้งนี้ อียิปต์เป็นผู้รับความช่วยเหลือจากสหรัฐรายใหญ่ที่สุดรายหนึ่ง ด้วยเงินช่วยเหลือทางทหารปีละ 1.3 ล้านดอลลาร์

ขณะที่ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือทุกรายในอียิปต์ได้รับคำสั่งให้ระงับบริการในบางพื้นที่ ก่อนหน้านี้มีรายงานแล้วว่าการเชื่อมต่ออินเทอร์เนตในประเทศใช้การไม่ได้

ทั้งนี้ สัญญานมือถือที่ไม่สม่ำเสมอและการไม่สามารถส่งข้อความได้ ทำให้ผู้ประท้วงติดต่อกันไม่ได้

สลด!ประท้วงอียิปต์ตายเกินร้อย
วันที่ 30 มกราคม 2554


ยอดผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ความวุ่นวายในอียิปต์เพิ่มขึ้นอย่างมาก จนเกินระดับ 100 รายแล้ว
สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานว่า ยอดผู้เสียชีวิตจากการชุมนุม และถูกปราบปราม ในอียิปต์พุ่งขึ้นอย่างมาก โดยในการประท้วงนาน 5 วัน มีผู้เสียชีวิตแล้ว 102 ราย โดยเฉพาะเมื่อวานนี้(29 ม.ค.)วันเดียวมีผู้เสียชีวิต 33 ราย

สถานการณ์ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเมื่อวาน ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในช่วงเกือบ 30 ปีที่ประธานาธิบดีฮอสนี มูบารักอยู่ในอำนาจ

กรุงไคโร เมืองหลวงของอียิปต์ ตกอยู่ในความระส่ำสะสายอย่างหนัก เจ้าของบ้านและธุรกิจร้านค้าในย่านคนมีอันจะกิน ต้องป้องกันตนเองกันอย่างเต็มที่จากพวกที่จะบุกมาปล้นทรัพย์สิน โดยคนเหล่านี้ ที่มีมีดและอื่นๆเป็นอาวุธ พากันเดินไปตามท้องถนน และหยิบฉวยทุกอย่างเท่าที่จะหาได้ นอกจากนั้นก็ยังทำลายรถยนต์ ป้าย และหน้าต่าง ขณะที่มีเหตุเพลิงไหม้ในบางเขต

รถถังและรถหุ้มเกราะกระจายกำลังกันตามจุดต่างๆทั่วเมืองที่ประชากร 18 ล้านคนเพื่อให้การคุ้มครองอาคารที่ทำการของรัฐบาลสำคัญๆ สถานที่ท่องเที่ยว และสถานที่สำคัญทางโบราณคดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งพิพิธภัณฑ์อียิปต์ ซึ่งเป็นสถานที่จัดเก็บสิ่งของเก่าแก่ล้ำค่าสำคัญของประเทศ และทำเนียบรัฐบาล

อย่างไรก็ดี ทหารไม่ได้ดำเนินการปราบปรามประชาชนในเมืองหลวงอีกต่อไป แม้กระทั่งหลังจากที่เข้าสู่ช่วงเคอร์ฟิวก็ตาม เมื่อประชาชนต่างก็พากันละเมิดคำสั่งเคอร์ฟิวเป็นวันที่ 2 เพื่อแสดงการปฏิเสธแผนของมูบารักที่จะอยู่ในอำนาจต่อไป ด้วยการเสนอให้มีการปฏิรูปการเมืองและให้มีรัฐบาลใหม่

ไม่มีความคิดเห็น: