หน้าเว็บ

วันพุธที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2554

จลาจลตูนิเซีย

ตูนิเซียเดินขบวนร้องปธน.ลาออก
วันที่ 14 มกราคม 2554

ตูนิส - ชาวตูนิเซียเดินขบวน เรียกร้องประธานาธิบดีลาออก หลังมีผู้เสียชีวิตจากเหตุจลาจล กรณีผู้ประท้วงอัตราว่างงานระดับสูง


ชาวตูนิเซียหลายพันคนเดินขบวนในเมืองหลวงและเมืองอื่นๆ เรียกร้องให้ประธานาธิบดีไซเน อบิดีน เบน อาลี ลาออก หลังจากเขารับปากจะไม่ลงรับเลือกตั้งอีกสมัยเพื่อยุติเหตุวุ่นวาย


ผู้ประท้วงพากันถือป้ายข้อความ "เราจะไม่ลืม" ซึ่งเป็นการพาดพิงถึงผู้เสียชีวิตในเหตุจลาจล ที่ยืดเยื้อเกือบเดือน เพราะประชาชนไม่ำอใจอัตราว่างงานในระดับสูงและปัญหาสังคมอื่นๆ โดยมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 23 คนในเหตุจลาจล และเมื่อวันพฤหัสบดี ประธานาธิบดีได้สั่งให้ลดราคาอาหารจำเป็น ทั้งยังรับปากจะให้เสรีภาพทางการเมืองและสื่อ รวมถึงลงจากตำแหน่งเมื่อหมดวาระในอีก 3 ปีข้างหน้า



ปธน.ตูนิเซียเผ่นออกนอกหลังจลาจล
วันที่ 15 มกราคม 2554

ตูนิส - ปธน.ตูนิเซียเผ่นออกนอกประเทศ หลังอยู่ในอำนาจมา 23 ปี เหตุประชาชนประท้วง ก่อจลาจล ไม่พอใจอัตราว่างงานสูงและปัญหาสังคมอื่นๆ


ประธานาธิบดีไซเน เอล อบิดีน เบน อาลี แห่งตูนิเซีย หลบหนีออกนอกประเทศเมื่อวันศุกร์ ขณะนายกรัฐมนตรีโมฮัมเหม็ด กาโนชิ ประกาศทางโทรทัศน์ว่าได้เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีชั่วคราว ตามรัฐธรามนูญที่ระบุให้นายกฯเข้าปฏิบัติหน้าที่หากประธานาธิบดีไม่สามาารถทำหน้าที่ได้ พร้อมรับปากจะปฏิรูปสังคมและการเมือง

ขณะก่อนหน้านี้รัฐบาลรับปากจะจัดการเลือกตั้งใหม่ใน 6 เดือน
แหล่งข่าวในรัฐบาลเผยว่านายเบน อาลี ได้บินออกนอกประเทศไปแล้ว แต่ไม่ชัดเจนว่าไปที่ใด ขณะรายงานข่าวก่อนหน้านี้ระบุว่าเขามุ่งหน้าไปฝรั่งเศส อดีตเจ้าอาณานิคมของตูนิเวีย แต่เจ้าหน้าที่ฝรั่งเศสกล่าวว่าไม่ต้องการนายเบน อาลี

ล่าสุดมีรายงานว่าเครื่องบินที่นายเบน อาลีโดยสารไป ลงจอดที่สนามบินเจดดาห์ในซาอุดีอาระเบีย

ประธานาธิบดีบารัก โอบามาแห่งสหรัฐ ยกย่องความกล้าและศักดิศรีของชาวตูนิเซีย พร้อมเรียกร้องให้จัดการเลือกตั้งอย่างบริสุทธิ์และยุติธรรม รวมถึงประนามการใช้ความรุนแรงกับประชาชนที่แสดงความเห็นอย่างสงบในตูนิเซีย ด้านอียูแสดงการสนับสนุนและยอมรับชาวตูนิเซีย รัฐมนตรีต่างประเทศอังกฤษประนามเหตุรุนแรงในตูนิเซีย และเรียกร้องให้จัดการเลือกตั้งอย่างบริสุทธิ์ ยุติธรรม

นายเบน อาลี ขึ้นสู่อำนาจในรัฐประหารที่ไร้เลือดเนื้อเมื่อปี 2530 ในช่วงที่ตูนิเซียกำลังซบเซา ตอนแรกเขาได้รับการชมเชยจากประชาชน ฐานปฏิรูปเศรษฐกิจ โดยมีนายกาโนชิ ข้าราชการวัย 69 ทำหน้าที่นายกฯเกือบตลอดตั้งแต่ปี 2552 ในฐานะหนึ่งในพันธมิตรใกล้ชิดที่สุดของเขา

นักวิเคราะห์กล่าวว่าการเปลี่ยนตัวผู้นำอย่างกระทันหัน มีแนวโน้มจะสร้างคลื่นความช็อคไปทั่วภูมิภาค ที่ผู้นำล้วนอยู่ในอำนาจนาน อย่างนายเบน อาลี วัย 74 การออกจากตำแหน่งของผู้นำตูนิเซียยังถือเป็นครั้งแรกที่ชาติอาหรับถูกบับให้ลงจากตำแหน่งด้วยแรงกดดันจากการประท้วงของประชาชน

การประท้วงอันยืดเยื้อเกือบ 1 เดือนของประชาชน มีชนวนจากนักศึกษาคนหนึ่งจุดไฟเผาตัวเองเมื่อเดือนธ.ค หลังจากตำรวจห้ามเขาขายผักผลไม้เพื่อยังชีพ ทั้งที่เขาตกงาน การประท้วงที่ยืดเยื้อทำให้มีผู้เสียชีวิต ซึ่งองค์การสิทธิมนุษยชนในฝรั่งเศส ระบุว่าเป็นจำนวนอย่างน้อย 66 ราย หรือสูงกว่าตัวเลขของทางการ 3 เท่า
เมื่อวันศุกร์ เหตุการณ์ในกรุงตูนิสยังวุ่นวาย เพราะประชาชนในหลายเมืองเดินขบวนประนามการยิงผู้ประท้วง และเรียกร้องให้เนายเบน อาลี ลาออก จากนั้นก็เกิดการจลาจล ผู้ประท้วงขว้างปาก้อนหินเข้าใส่ตำรวจและเริ่มจุดไฟบนถนน ขณะเจ้าหน้าที่ใช้แก๊สน้ำตา ในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมาทางการได้ระดมทหารมารักษาสถานการณ์เป็นครั้งแรก

นายเบน อาลี หวังอยู่ในอำนาจต่อด้วยการปลดผู้จงรักไปหลายคน และรับปากจะลงจากตำแหน่งเมื่อหมดวาระในอีก 3 ปี รวมถึงลดราคาอาหารที่จำเป็น แต่ไม่สามารถสร้างความพอใจแก่ผู้ประท้วงได้


ตูนิเซีย...จากคอร์รัปชัน ถึงปากท้องประชาชน...
ดร.วีรพงษ์ ชุติภัทร์ @กรุงเทพธุรกิจ
วันอังคารที่ 01 มีนาคม พ.ศ. 2554

ศูนย์บริการวิชาการธรรมาภิบาล มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม www.thaigoodgovernance.org

ในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา ทั่วโลกได้ตกตะลึงและจับจ้องไปยังการประท้วงเพื่อให้ผู้นำประเทศลาออก โดยเฉพาะหลายประเทศที่อยู่ในตะวันออกกลาง โดยมีจุดเริ่มต้นที่... ประเทศตูนิเซีย

ตูนิเซีย...มีชื่อเป็นทางการคือ สาธารณรัฐตูนิเซีย เป็นประเทศอาหรับมุสลิมที่ตั้งอยู่ในทวีปแอฟริกาเหนือ มีประชากรประมาณ 10 ล้านคน ซึ่งถือว่ามีประชากรน้อยมาก หากเทียบกับประเทศไทย ระหว่างปี 1980-1986 ตูนิเซียมีนายกรัฐมนตรีชื่อ นายซีเน เอลอาบีดีเน่ เบน อาลี หรือเรียกย่อๆ ว่า นายเบน นายเบนได้มีความสัมพันธ์เชิงชู้สาวกับผู้หญิงคนหนึ่ง ที่เป็นเจ้าของร้านเสริมสวยและไม่มีการศึกษามีชื่อว่า นางไลลา ทราเบลซิส ทั้งๆ ที่ในเวลานั้น นายเบนเองก็มีภรรยาอยู่แล้ว นางไลลาอ้างกับนายเบนว่าตนกำลังมีท้องและเด็กในท้องก็เป็นผู้ชาย นายเบนซึ่งอยากได้ลูกผู้ชายอยู่แล้ว แต่ไม่สามารถมีได้กับภรรยาคนปัจจุบัน จึงตัดสินใจหย่าขาดกับภรรยาและไปแต่งงานใหม่กับนางไลลา หลังจากนั้น นางไลลาก็คลอดบุตรออกมา แต่กลับเป็นเด็กผู้หญิง

ในปี 1987 มีการรัฐประหารเกิดขึ้นภายในประเทศ โดยนายเบนได้สถาปนาตนเองเป็นประธานาธิบดี และทำให้นางไลลา ทราเบลซิส กลายเป็นสตรีหมายเลขหนึ่งของตูนิเซียไปโดยอัตโนมัติ ตระกูล "ทราเบลซิส" จากเดิมที่อยู่ในระดับชนชั้นกลางล่างของสังคมตูนิเซียได้ขยับฐานะไปเป็นหนึ่งในชนชั้นสูงและเป็นชนชั้น ที่มีอำนาจในการปกครองประเทศ คนในตระกูลได้ผันตัวเองเข้าไปเป็นผู้บริหารระดับสูงของรัฐวิสาหกิจหลายแห่งของประเทศ ได้เข้าควบคุมและถ่ายเทผลประโยชน์จากรัฐวิสาหกิจเข้าไปยังหน่วยงานของคนในตระกูล โดยเฉพาะการขายรัฐวิสาหกิจให้กับเอกชนโดยปราศจากการแข่งขัน นอกจากนั้น คนในตระกูลบางคนเปิดธนาคารพาณิชย์เป็นของตนเองและรับฝากเงินจากประชาชน จากนั้นก็ปล่อยกู้ให้กับโครงการที่ตนเป็นเจ้าของหรือโครงการที่ตนมีส่วนร่วม โดยไม่สนใจว่าจะต้องหาเงินมาจ่ายกลับเมื่อประชาชนต้องการถอนเงินจากธนาคารนั้นๆ ตระกูลทราเบลซิสยังเป็นเจ้าของสถานีวิทยุเอกชนแห่งเดียวของตูนิเซียที่มีชื่อว่า "เรดิโอ โมเสค" โดยได้รับการสนับสนุนจากธนาคารที่ตระกูลเป็นเจ้าของ ตระกูลยังขยายกิจการออกไปอีกโดยเป็นเจ้าของสายการบินที่มีชื่อว่า "คาร์ธาโก แอร์ไลน์" และได้ใช้ชื่อ "คาร์ธาโก" นำไปขยายธุรกิจเครือข่ายโรงแรมและบริษัทท่องเที่ยวต่อไปอีกด้วย

ด้วยปัญหาคอร์รัปชันที่แพร่หลายและหยั่งรากลึกดังกล่าว โดยมีการประมาณการว่ากลุ่มเศรษฐีรุ่นใหม่มากกว่าครึ่งหนึ่ง จะมาจากญาติมิตรหรือมีสายสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับนายเบน หรือนางไลลาเท่านั้น ดังนั้น หากคิดจะทำธุรกิจใดในตูนิเซีย ความสัมพันธ์กับทั้งสองคน จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ยากจะปฏิเสธได้ นอกจากนั้น กลุ่มคนร่ำรวยเหล่านี้ยังพยายามหาโอกาสในการอวดความร่ำรวยของตนต่อสาธารณะ ซึ่งเป็นการทำให้ประชาชนยิ่งเกิดความไม่พอใจต่อประธานาธิบดีและภรรยาของเขา ปัญหาการว่างงานอย่างรุนแรงก็เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่เร่งเร้าให้ความอดทนของประชาชนใกล้ถึงจุดระเบิดเร็วขึ้น ในปี 1995 อัตราการว่างงานของประเทศอยู่ที่ร้อยละ 15.8 และทำได้ดีที่สุดในปี 2005 อัตราว่างงานมาอยู่ที่ร้อยละ 14 อย่างไรก็ตาม ตัวเลขดังกล่าวเพียงแต่ยืดระยะเวลาของปัญหาที่แท้จริงออกไปก่อนเท่านั้น บัณฑิตที่จบจากมหาวิทยาลัย และไม่สามารถหางานทำได้ยังมีอีกเป็นจำนวนมาก

นายโมฮัมหมัด โบอาซิซิ เป็นตัวอย่างหนึ่งของคนจำนวนมากที่จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัย แต่ไม่สามารถหางานทำได้ เขาจบปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยที่มีชื่อแห่งหนึ่งของตูนิเซีย เขาได้พยายามหางานทำที่เกี่ยวกับวิชาชีพที่ตนสำเร็จการศึกษามา แต่จนแล้วจนรอด ก็ไม่สามารถหางานทำได้ ดังนั้น เพื่อหาเงินมาประทังชีวิตของตนเองและครอบครัวที่เขาต้องดูแล นายโมฮัมหมัดจึงตัดสินใจไปเป็นพ่อค้าขายผักผลไม้หาบเร่ พอเริ่มคิดจะทำอาชีพดังกล่าว นายโมฮัมหมัดก็เจอกับอุปสรรคที่เกิดจากการคอร์รัปชันอย่างแพร่หลายของประเทศ ตามกฎระเบียบของตูนิเซียผู้ที่จะขายของหาบเร่ได้จะต้องมีใบอนุญาต อย่างไรก็ตาม นายโมฮัมหมัดก็พยายามสู้ทุกวิถีทางโดยการหยิบยืมเอาจากเพื่อนบ้านที่รู้จัก เพื่อมาเป็นทุนในการซื้อสินค้าและอื่นๆ โดยหวังว่าจะสามารถเก็บหอมรอมริบไปจ่ายคืนให้เพื่อนบ้าน และเป็นค่าผ่อนสำหรับใบอนุญาตในการขายของหาบเร่

ในวันแรกที่นายโมฮัมหมัดเริ่มขายของหาบเร่ เขาก็เจอเข้ากับตำรวจที่ไม่อนุญาตให้เขาขายของจนกว่าเขาจะมีเงินไปซื้อใบอนุญาตมา เมื่อไม่มีใบดังกล่าวตำรวจจึงยึดผักผลไม้และอุปกรณ์รถเข็นต่างๆ แม้ว่านายโมฮัมหมัดจะพยายามขัดขืนและแย่งคืนของตนกลับมา แต่เขากลับถูกทุบตีอย่างรุนแรงเมื่อเขาพยายามส่งเสียงร้องขอความเป็นธรรม ผลไม้ดังกล่าวถูกนำไปแบ่งในกลุ่มตำรวจด้วยกัน ในขณะที่อุปกรณ์รถเข็นถูกยึดไว้เป็นของกลางจนกว่าจะมีเงินมาจ่ายค่าปรับและค่าใบอนุญาต

นายโมฮัมหมัดกลับไปเอาถังน้ำมันที่บ้านของตน จากนั้นก็เดินไปที่ย่านพักอาศัยของชนชั้นสูงในเมือง และจุดไฟเผาตัวเอง ภาพเหตุการณ์สุดสยองดังกล่าวได้มีผู้ถ่ายวีดิโอได้เป็นจำนวนมาก และได้นำไปเผยแพร่ในสื่อสังคมออนไลน์ เช่น ยูทูบ ทวิตเตอร์ กูเกิล และตามบล็อกอีกเป็นจำนวนมาก จากนั้นผู้คนจำนวนมากในโลก ก็ได้เห็นไฟที่เผาร่างนายโมฮัมหมัด บัณฑิตหนุ่มชาวตูนิเซียที่มีชีวิตแร้นแค้น และอาภัพเป็นอย่างยิ่ง ที่สำคัญ นายโมฮัมหมัดเป็นตัวแทนของคนหนุ่มสาวตูนิเซียจำนวนมากที่สำเร็จการศึกษาจากรั้วมหาวิทยาลัย แต่ครั้งแล้วครั้งเล่า ก็ไม่สามารถหางานทำได้ และพยายามสู้ชีวิตจนอับจนปัญญา...จนต้องคิดสั้นที่จะจบชีวิตตนเองในที่สุด

ภาพเหตุการณ์ดังกล่าวได้ก่อให้เกิดกระแสความไม่พอใจและโกรธแค้นในตัวประธานาธิบดีเบน อาลี และภรรยานางไลลา ทราเบลซิส อย่างรุนแรง เกิดการประท้วงให้ประธานาธิบดีลาออกจากตำแหน่งอย่างแพร่หลายไปทั่วประเทศ รัฐบาลได้กำหนดให้มีเคอร์ฟิวเพื่อสกัดกั้นไม่ให้ผู้ประท้วงออกมาชุมนุม แต่ไม่มีใครสนใจ การประท้วงยังคงดำเนินต่อไป ตำรวจจึงเริ่มยิงประชาชนด้วยลูกกระสุนจริง และมีผู้ประท้วงตายเป็นจำนวนมาก ทางการพยายามผ่อนคลายสถานการณ์ โดยให้นายราฟิก เบลฮาจ กาเซม รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยลาออก เพื่อเป็นการรับผิดชอบ นอกจากนั้น ยังมีการประกาศที่จะปล่อยตัวทุกคนที่มาชุมนุมและถูกจับไปก่อนหน้านี้ แต่ก็ไม่สามารถทำให้สถานการณ์ดีขึ้นได้เลย แล้วก็เกิดการชุมนุมประท้วงครั้งที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ นายเบน อาลี ได้ประกาศภาวะฉุกเฉินและยุบสภาในวันที่ 14 มกราคม 2011 แต่สถานการณ์ก็ยังไม่มีอะไรดีขึ้น หลังจากนั้นไม่นานก็มีการยืนยันออกมาว่าประธานาธิบดีเบน อาลี ได้หนีออกจากประเทศไปพร้อมกับทองคำ 1.5 ตัน วันที่ 26 ของเดือนเดียวกัน ตำรวจระหว่างประเทศได้ออกหมายจับนายเบน อาลี และญาติอีกหกคน และในที่สุด ตูนิเซียก็เริ่มนับหนึ่งสำหรับขบวนการประชาธิปไตย เพื่อสรรหาผู้นำประเทศใหม่อีกครั้งหนึ่ง

ตูนิเซีย... เป็นเพียงหนึ่งในหลายๆ ประเทศที่ประสบปัญหาการคอร์รัปชันอย่างรุนแรง จนทำให้ประชาชนทั่วไปโดยเฉพาะประชาชนในระดับรากหญ้าประสบปัญหาการยังชีพและการอยู่รอดของทั้งตนเองและของครอบครัว ดังนั้น ประเทศใดก็ตามที่...ปากท้องของประชาชนประสบปัญหาเพราะปัญหาคอร์รัปชัน ...รัฐบาลในประเทศนั้นๆ ก็คงจะต้องนับถอยหลัง...รอวันอวสานที่คืบคลานเข้ามาใกล้ขึ้นทุกวัน

ไม่มีความคิดเห็น: